ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

ความร่วมมือการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลผู้สอบผ่าน การวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ “ภาค ก” ระหว่างสำนักงาน ก.พ. กับหน่วยงานของรัฐ ๕ แห่ง

สำนักงาน ก.พ. จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. กับหน่วยงานของรัฐ จำนวน ๕ แห่ง ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานศาลปกครอง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ณ ห้องประชุมจินดา ณ สงขลา สำนักงาน ก.พ. จังหวัดนนทบุรี

การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป หรือ “ภาค ก” ของสำนักงาน ก.พ. เปรียบเสมือนบันไดก้าวแรกของการเข้ารับราชการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อทดสอบความสามารถหรือศักยภาพในการเรียนรู้ของบุคคล เพื่อให้ได้ผู้ปฏิบัติงานที่สามารถเรียนรู้หรือฝึกฝนการปฏิบัติงานในตำแหน่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถพัฒนาก้าวไปสู่ระดับตำแหน่งที่สูงยิ่งขึ้นเพื่อปฏิบัติราชการที่สำคัญ ๆ ได้ โดยเป็นการวัดความสามารถในการนำความรู้ต่าง ๆ มาผสมผสาน จัดระเบียบเพื่อใช้ในการปฏิบัติราชการ และวัดความสามารถในการพัฒนาและฝึกฝนได้ ประกอบด้วย

๑. การทดสอบความสามารถทั่วไป เป็นการสอบเพื่อวัดความสามารถด้านการคิดคำนวณ โดยทดสอบการประยุกต์ใช้ความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของจำนวนหรือปริมาณ การแก้ปัญหาเชิงปริมาณ และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณต่าง ๆ และด้านเหตุผล โดยทดสอบการคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของคำข้อความ หรือรูปภาพ การหาข้อยุติหรือข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผล
จากข้อความ สัญลักษณ์ สถานการณ์ หรือแบบจำลองต่าง ๆ

๒. การทดสอบภาษาไทย เป็นการสอบเพื่อวัดความสามารถด้านความเข้าใจภาษา โดยทดสอบการอ่านและการทำความเข้าใจกับบทความหรือข้อความที่กำหนดให้ แล้วตอบคำถามที่ตามมาในแต่ละบทความ หรือข้อความ รวมทั้งการสรุปความ และตีความ และด้านการใช้ภาษา โดยทดสอบการเลือกใช้คำหรือกลุ่มคำการเขียนประโยคได้ถูกต้องตามหลักภาษาและการเรียงข้อความ

๓. การทดสอบภาษาอังกฤษ โดยวิธีการสอบข้อเขียนเป็นการสอบเพื่อวัดความสามารถด้านการพูด เขียน อ่าน และ ฟัง ภาษาอังกฤษ และความเข้าใจสาระสำคัญของข้อความในระดับเบื้องต้น

สำนักงาน ก.พ. ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการสรรหาและเลือกสรรโดยยึดหลักแห่งความรู้ความสามารถเฉพาะบุคคล ความเป็นกลาง และความยุติธรรม อย่างเข้มแข็ง เป็นมาตรฐาน และเป็นไปตามระบบคุณธรรม เพื่อคัดกรองบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพสอดคล้องกับลักษณะงาน และการเปลี่ยนแปลงของบริบทเชิงเศรษฐกิจและสังคมเสมอมา โดยในแต่ละปีจะมีผู้ให้ความสนใจสมัครสอบภาค ก ประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ – ๕๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งเปิดรับสมัครผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาหรือผู้ที่จบการศึกษามาแล้ว ในทุกระดับคุณวุฒิ และมีการจัดสอบทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยการในจำนวนนี้มีผู้สอบผ่าน ประมาณปีละ ๒๐,๐๐๐ – ๒๕,๐๐๐ คน

หลังจากการสอบผ่านภาค ก หรือก้าวข้ามบันไดขั้นแรกแล้ว ผู้สอบผ่านจำเป็นต้องผ่านการสอบอีก ๒ ระดับ ได้แก่ การสอบเพื่อวัดความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข) และการสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) เพื่อจะสามารถเข้ารับราชการได้โดยสมบูรณ์ต่อไป โดยหน่วยงานแต่ละแห่งจะเป็นผู้ดำเนินการจัดสอบทั้ง ๒ ระดับนี้ สำหรับคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมบรรจุแต่งตั้งเพื่อเข้ารับราชการตามภารกิจและลักษณะงานของหน่วยงาน

สำหรับสาระสำคัญของความร่วมมือในการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลผู้สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ระหว่างสำนักงาน ก.พ. กับหน่วยงานของรัฐ ทั้ง ๕ แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานศาลปกครอง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มิได้เป็นหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในวันนี้นั้น ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีในการสร้างประโยชน์ต่อทั้งประชาชนและภาครัฐ ในแง่ของประชาชน เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสก้าวสู่การทำงานในหน่วยงานของรัฐมากยิ่งขึ้น และในแง่ของภาครัฐ เป็นการบูรณการครั้งสำคัญของหน่วยงานของรัฐ ช่วยลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการสรรหาและคัดเลือกบุคคล และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐในภาพรวม รวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงระบบการสรรหาและเลือกสรรบุคคลที่มีมาตรฐานในระดับเดียวกัน เป็นไปตามระบบคุณธรรม และความเชื่อมั่นของส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีต่อระบบการสอบของสำนักงาน ก.พ.

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ