ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

อ.ก.พ.จริยธรรมและ อ.ก.พ.วินัย ร่วมพิจารณาร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเตรียมเสนอ ก.พ. เดือนนี้

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 ก.ค. และ 17 ก.ค. 2560 ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรม สำนักมาตรฐานวินัย และคณะทำงานจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ สำนักงาน ก.พ. จัดประชุมร่วมระหว่าง อ.ก.พ.วิสามัญว่าด้วยการส่งเสริมจริยธรรมเพื่อราชการใสสะอาดและ อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ เพื่อพิจารณาข้อสรุปจากที่ประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทนหน่วยงานองค์กรกลางด้านการบริหารงานบุคคลประเภทต่างๆ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานทางจริยธรรมในส่วนของ "สาระ" "กลไก" และ "สภาพบังคับ" ดังนี้
1. "สาระ" ของมาตรฐานทางจริยธรรม ประกอบด้วย
     1. ซื่อสัตย์สุจริต
     2. รับผิดชอบต่อหน้าที่
     3. ไม่เลือกปฏิบัติ
      4. กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง
      5. มุ่งผลสัมฤทธิ์
      6. มีจิตสาธารณะ
      7. เป็นต้นแบบของสังคม

2. "กลไก" ประกอบด้วย
   2.1 กลไกระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ก.ม.จ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ
  2.2 กลไกระดับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลประเภทต่างๆ มีหน้าที่ในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงาน ควบคุม กำกับ ดูแล ให้หน่วยงานในความรับผิดชอบนำมาตรฐานทางจริยธรรม ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ กลไกการขับเคลื่อน และแนวทางการนำไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล เป็นต้น
 2.3 กลไกระดับหน่วยงาน/ส่วนราชการ โดยกำหนดให้หัวหน้าหน่วยงาน/ส่วนราชการ (ระดับกระทรวง กรม/จังหวัด หรือหน่วยงานที่เทียบเท่า) มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐและคุ้มครองจริยธรรมในหน่วยงาน/ส่วนราชการ และนำมาตรฐานทางจริยธรรมไปประกอบการพิจารณาในกระบวนการบริหารงานบุคคลเว้นแต่เรื่องวินัย

3. "สภาพบังคับ" ได้แก่
  3.1 กำหนดความชัดเจนไม่ทับซ้อนกันระหว่าง “จริยธรรม” และ “วินัย” คือ
                "จริยธรรม" ใช้ในการป้องปราม (Deterrence) โดยการยับยั้ง กีดขวาง หรือจูงใจให้ละเว้นการกระทำที่ไม่ดี เพื่อแก้ไข (Correct) ทำให้คนไม่ดีเป็นคนดี
                "วินัย" ใช้ในการปราบปราม (Suppression) เป็นการลงโทษ (Punishment) ทำให้คนไม่ดีเป็นคนไม่ดีตลอดไป โดยบันทึกในทะเบียนประวัติให้ปรากฎไว้ตรวจสอบได้ตลอดเวลา

  3.2 การนำ “มาตรฐานทางจริยธรรม” ไปใช้ในกระบวนการบริหารงานบุคคล 
                 การกำหนดกลไกการบังคับใช้ที่เหมาะสม โดยนำพฤติกรรมทางจริยธรรมไปใช้ในการพิจารณาให้คุณให้โทษในกระบวนการบริหารงานบุคคล อาทิ การสรรหา การพัฒนา การพิจารณาแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การประเมินผลการปฏิบัติราชการ เป็นต้น

  3.3 การคุ้มครองผู้ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
                คุ้มครองและประกันความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการนำมาตรฐานทางจริยธรรมไปบังคับใช้ และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติตามประมวลจริยธรรม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่นที่แจ้งหรือเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประพฤติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎหมาย รวมถึงการให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง และระบบการแจ้งเบาะแส ฯลฯ

ทั้งนี้ เนื้อหาดังกล่าวจะนำเสนอ ก.พ. ในการประชุมวันที่ 24 ก.ค. 2560 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายผู้แทน ก.พ. เพื่อเข้าร่วมประชุมกับผู้แทนคณะกรรมการองค์กรกลางบริหารงานบุคคลประเภทต่างๆ ในวันที่ 10 ส.ค. 2560 เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อสรุปมาตรฐานทางจริยธรรม เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ภาพในเนื้อหาข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ