ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

ระบบการศึกษาในฝรั่งเศส (1)

ระบบการศึกษาฝรั่งเศส (ก่อนวัยเรียน-มัธยมศึกษาตอนปลาย)

I) ระบบการศึกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศส
การศึกษาในโรงเรียนของรัฐตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นการศึกษาให้เปล่า ไม่เสียค่าเล่าเรียนและโรงเรียนจัดหาหนังสือให้ยืมใช้ตลอดปีการศึกษา  การสมัครเข้าศึกษาของผู้ที่พำนักในฝรั่งเศสเริ่มด้วยการลงทะเบียนที่ศาลาว่าการท้องถิ่น (Mairie) ในเขตภูมิลำเนาที่อาศัย เมื่อเด็กจบชั้นอนุบาล โรงเรียนอนุบาลจะส่งตัวต่อให้โรงเรียนประถมศึกษาในเขตเดียวกัน เป็นอย่างนี้เป็นทอดๆ จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  ในกรณีที่ต้องการเรียนในโรงเรียนอื่นที่อยู่นอกเขตที่จัดไว้  สามารถยื่นคำขอเป็นกรณีพิเศษได้  การตอบรับกรณีพิเศษขึ้นอยู่กับความสามารถของโรงเรียนในการรับนักเรียน   ดังนั้น จึงไม่มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียน ด้วยหลักการที่ว่า เด็กทุกคนไม่ว่าถือสัญชาติใดมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้ารับการศึกษา
สำหรับการศึกษาในโรงเรียนเอกชน ไม่คำนึงถึงเขตภูมิลำเนาและไม่มีการสอบคัดเลือก การรับเข้าศึกษาในระดับมัธยมจะพิจารณาจากผลการศึกษาเป็นสำคัญ

1.การศึกษาก่อนวัยเรียน เด็กอายุ 3 -5 ปี
การศึกษาก่อนวัยเรียนหรือก่อนการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียนอนุบาลแบ่งเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นเด็กเล็ก (Petite section)  ชั้นเด็กกลาง (Moyenne section)  และ ชั้นเด็กโต (Grande section)  ในบางโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านบุคลากรและสถานที่ อาจเปิดรับเด็กที่พอช่วยตัวเองได้ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่ง   การสอนในระดับนี้มุ่งฝึกหัดให้เด็กรู้จักช่วยตนเอง เริ่มเรียนรู้ และ แสดงความสามารถ พัฒนาทักษะทางภาษาทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการสื่อสารด้วยคำพูด มีจำนวนชั่วโมงเรียนอยู่ที่ 24 ชั่วโมง/สัปดาห์
การประเมินวัดผลเป็นการประเมินทักษะที่เด็กแต่ละคนเรียนรู้ เช่น ใช้ภาษาสื่อสารได้ พอใช้  ดี หรือ ดีมาก  ไม่มีการสอบให้คะแนนจัดลำดับในชั้นเรียน หากครูเห็นว่าเด็กยังไม่มีทักษะที่จะเลื่อนไปในชั้นที่สูงขึ้น จะเสนอให้เด็กซ้ำชั้น หรือ หากเด็กมีศักยภาพ อาจให้ข้ามชั้นได้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองมีสิทธิ์ให้ความเห็นในการตัดสินใจ

2. การศึกษาระดับประถมศึกษา เด็กอายุ 6-10 ปี
การศึกษาระดับนี้จัดเป็นก้าวแรกของการศึกษาภาคบังคับซึ่งจะสิ้นสุดเมื่อเด็กอายุ 16 ปี ซึ่งถือเอาอายุเด็กเป็นเกณฑ์ แบ่งออกเป็น 5 ชั้น ได้แก่
- ชั้นเตรียมประถมศึกษา             Cours Préparatoire – CP
- ชั้นประถมศึกษาต้นปีที่ 1          Cours Elémentaire 1– CE 1
- ชั้นประถมศึกษาต้นปีที่ 2          Cours Elémentaire 2– CE 2
- ชั้นประถมศึกษากลางปีที่ 1       Cours Moyen 1– CM 1
- ชั้นประถมศึกษากลางปีที่ 2       Cours Moyen 2– CM 2
การประเมินวัดผล ยังคงเหมือนระดับก่อนวัยเรียน คือประเมินทักษะและระดับความรู้ของเด็กเฉพาะรายเทียบกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  การวัดผลกระทำสม่ำเสมอตลอดปีการศึกษาในรูปของการบ้าน แบบฝึกหัด การตอบคำถามในชั้นเรียนและไม่มีการจัดลำดับที่  ครูที่สอนวิชาการหลักๆจะเป็นครูคนเดียวกันคือครูประจำชั้น

3. การศึกษาระดับมัธยมศึกษา เด็กอายุ 11-18 ปี แบ่งออกเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย
3.1  มัธยมศึกษาตอนต้น  เด็กอายุ 11-14 ปี
ระดับนี้แบ่งออกเป็น 4 ชั้น  เริ่มตั้งแต่ ชั้น 6  ชั้น 5  ชั้น 4  และ ชั้น 3  ในระดับนี้ เด็กเริ่มก้าวไปสู่โลกของการเรียนรู้ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีครูเฉพาะแต่ละวิชา  หลังจากระดับนี้ไปแล้วการศึกษาจะแยกออกเป็นสายสามัญและสายวิชาชีพ  หลักสูตรนี้จึงกำหนดให้ นักเรียนในชั้น 3 ทุกคน เข้ารับการฝึกงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อทำความรู้จักกับวิชาชีพต่างๆ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเรียนรู้โลกของการประกอบอาชีพ โดยนักเรียนต้องทำรายงานการฝึกงานทั้งข้อเขียนและปากเปล่า
การประเมินวัดผล มีการสอบเก็บคะแนนตลอดปี มีคะแนนการมีส่วนร่วมอภิปรายในชั้น  ในสิ้นปีชั้น 3 มีการสอบรับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนต้น (Brevet)  ซึ่งข้อสอบส่วนหนึ่งเป็นข้อสอบกลางทั่วประเทศ  ใบคะแนนผลการเรียน จะระบุคะแนนที่ได้ในแต่ละวิชา และ คะแนนเฉลี่ยรวมทุกวิชาของนักเรียน พร้อมความเห็นของครูผู้สอนแต่ละวิชา คะแนนสูงสุดของชั้น และคะแนนเฉลี่ยของชั้นในวิชานั้นๆ เพื่อให้เห็นว่านักเรียนจัดอยู่ในกลุ่มใด แต่จะไม่มีการจัดลำดับที่

3.2  มัธยมศึกษาตอนปลาย  เด็กอายุ 15-17 ปี
ในระดับนี้ แยกเป็น 2 สาย คือ (1) สายสามัญและเทคโนโลยี และ (2) สายวิชาชีพ โดยทั้ง 2 สายแบ่งเป็น  3 ชั้น คือ
ชั้น 2 (Seconde)         ในสายสามัญและเทคโนโลยี  นักเรียนทุกคนเรียนวิชาพื้นฐาน
ชั้น 1 (Première)        ในสายสามัญและเทคโนโลยี นักเรียนเข้าสู่สายวิชาเฉพาะ เช่น สายสามัญวิทยาศาสตร์ สายสามัญเศรษฐศาสตร์และสังคม สายสามัญภาษาและวรรณคดี สายเทคโนโลยีบริหารจัดการ สายเทคโนโลยีออกแบบศิลปะ

ในสายวิชาชีพ หลังจบชั้นชั้น 1 ( Première) นักเรียนสามารถสอบรับประกาศนียบัตรวิชาชีพ Certificat d’Aptitude Professionnelle – CAP  หรือ Brevet d’Etudes Professionnel – BEP และเข้าสู่ตลาดแรงงานได้

ชั้นปลาย (Terminale)   เมื่อสิ้นปีการศึกษา เด็กต้องเข้าสอบรับประกาศนียบัตร Baccalauréat สายสามัญและเทคโนโลยี หรือ สายวิชาชีพ ซึ่งเป็นการสอบทั่วประเทศใช้ข้อสอบกลาง เป็นการสอบที่เปิดสิทธิ์ให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

การประเมินวัดผล มีรูปแบบเหมือนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  ความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งของการวัดผลระหว่างโรงเรียนระบบฝรั่งเศส และ ระบบไทย คือ ในฝรั่งเศส นักเรียนเขียนตอบเป็นอัตนัยเป็นส่วนใหญ่ เริ่มตั้งแต่ชั้นประถม จะเขียนตอบเป็นประโยคสั้นๆ และค่อยพัฒนาเป็นย่อหน้า ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนเขียนตอบอย่างมีโครงสร้าง มีคำนำ มีข้อสนับสนุน ข้อคัดค้าน และ มีสรุป ซึ่งวิธีการเขียนตอบแบบนี้ เป็นลักษณะเฉพาะตัวของระบบความคิดแบบฝรั่งเศส ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับนักเรียนไทยที่มาศึกษาต่อในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์

PDF iconrabbkaarsueksaafrangess.pdf

ประเภทข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ