การส่งเสริมจริยธรรมข้าราชการพลเรือน

ปัจจุบัน จริยธรรมในภาคราชการมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากการกำหนดสาระสำคัญเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 รวมทั้งมีการจัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการพลเรือนด้วย

ในปี พ.ศ.2551 สำนักงาน ก.พ. ได้พัฒนาเครื่องมือวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อใช้วัดความโปร่งใสในหน่วยงานประเภทบริการ โดยมีเครื่องมือจำนวน 7 มิติ 53 ตัวชี้วัดย่อย ต่อมามีการศึกษาและพัฒนาตัวชี้วัดอีก 2 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมหน่วยงานทุกประเภท ได้แก่ ประเภทนโยบาย การบริหาร การบังคับใช้กฏหมาย และการสนับสนุนวิชาการ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับการส่งเสริมจริยธรรมเพื่อราชการใสสะอาด เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 กำหนดเป็นมาตรฐานความโปร่งใส 4 มิติหลัก 13 ตัวชี้วัดย่อย ให้ทุกส่วนราชการใช้เป็นตัวชี้วัดความโปร่งใส

สำหรับประมวลจริยธรรม พ.ศ.2552 ข้อ 24 กำหนดไว้ว่า เมื่อครบ 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประมวลจริยธรรมมีผลบังคับใช้ ให้สำนักงาน ก.พ. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้ พร้อมดำเนินการปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติหรือแก้ไขเพิ่มเติมประมวลจริยธรรมให้เหมาะสม ดังนั้น เพื่อสนับสนุนแนวทางการเสริมสร้างจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ในปีต่อมา คือ พ.ศ.2553 สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดทำเครื่องมือประเมินสถานภาพจริยธรรมข้าราชการพลเรือน โดยมีเครื่องมือเชิงปริมาณ ได้แก่ แบบสำรวจสถานภาพจริยธรรมข้าราชการ และเครื่องมือเชิงคุณภาพ คือ กรณีศึกษาเพื่อประเมินสถานภาพจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ซึ่งเครื่องมือเชิงปริมาณนั้นได้นำมาปรับใช้และเก็บข้อมูลในส่วนของข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศในปี พ.ศ.2554

ในปี พ.ศ.2556 สำนักงาน ก.พ. มีการติดตามประเมินผลสถานภาพจริยธรรม เพื่อนำผลการศึกษามาเปรียบเทียบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเดิมเมื่อปี 2554 โดยศึกษาประเมินในเชิงปริมาณซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และในปีเดียวกันนี้ ยังได้มีการศึกษาในส่วนของประชาชนและสัมภาษณ์เจาะลึกความคิดเห็นจากประธานคณะกรรมการจริยธรรมและกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมด้วย ซึ่งผลการศึกษาจะเรียบร้อยในปลายปีงบประมาณ 2556 นี้

การเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไลการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 

คณะกรรมการจริยธรรมประจำส่วนราชการ

  • การสัมมนาคณะกรรมการจริยธรรม
  • การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม

กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม

  • หลักสูตร การเป็นที่ปรึกษาด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล สำหรับหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม
  • หลักสูตร การพัฒนาความเป็นมืออาชีพด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล

วัฒนธรรมเชิงจริยธรรมในองค์กร (Ethical DNA)

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๗๘ กำหนดให้ “ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาจรรยาข้าราชการตามที่ส่วนราชการกำหนดไว้ โดยมุ่งประสงค์ให้เป็นข้าราชการที่ดี มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการ ประกอบกับประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ข้อ ๑๓ (๔) กำหนดให้ "ก.พ." มีอำนาจหน้าที่ในการเผยแพร่และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้เป็นที่รับทราบอย่างกว่าขวางทั้งในหมู่ราชการและประชาชน โดยจัดให้มีการศึกษาค่านิยมที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามประมวลนี้ และดำเนินการแก้ไขปรับเปลี่ยนค่านิยมนั้น

สำนักงาน ก.พ.ได้ทำการศึกษาแนวทางการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม พบว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการกระทำผิดวินัย หรือการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมได้ แต่ต้องมีการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และใช้เวลา เพื่อที่จะทำให้บุคลากรยอมรับและประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม และวินัยข้าราชการ จนเป็นความเชื่อและปฏิบัติตามจนเป็นวิถีปกติของการทำงานในองค์กร และกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรในที่สุด สำนักงาน ก.พ. จึงพิจารณาเห็นความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรโดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมเชิงจริยธรรมในองค์กร (Ethical DNA หรือ E-DNA) ของหน่วยงานของรัฐให้มีความเข็มแข็ง

เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง การสร้างวัฒนธรรมเชิงจริยธรรมในองค์กร

จรรยาข้าราชการ

ความเป็นมาของจรรยาข้าราชการ

การกำหนดจรรยาข้าราชการนั้น อาจพบว่ามีจรรยามารยาทของข้าราชการตั้งแต่กรุงสุโขทัยที่มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก แต่หลักฐานสำคัญเริ่มตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ดังที่มีการเขียนไว้ในวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น ราชาธิราช มีการกำหนดคุณสมบัติของข้าราชบริพารในโอวาทข้าราชบริพาร การพิชัยสงคราม และราชวัตร เพื่อให้ข้าราชการในสมัยนั้น มีความซื่อสัตย์สุจริตและไหวพริบปฏิภาณ การเตรียมพร้อมในการรบกับข้าศึกศัตรู การรู้จักปูนบำเหน็จให้ถึงขนาดแก่ทหารที่มีความชอบด้วยอามิสหรือถ้อยคำที่ไพเราะเพื่อให้มีกำลังใจ ฯลฯ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ปี พ.ศ.2411-2453) ราชการไทยเริ่มมีจรรยาบรรณวิชาชีพ หรือ “จรรยาข้าราชการ” ขึ้น เพื่อควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพข้าราชการขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งยังยกระดับฐานะวิชาชีพของตนให้เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย สาเหตุที่มานั้น มาจากการพัฒนา “วิชาชีพข้าราชการ” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงปฏิรูปการปกครองและระบบราชการให้สอดคล้องกับแนวทางตะวันตก เพื่อที่จะพัฒนาวิชาชีพนิยมของระบบราชการและข้าราชการไทยให้มีความเข้มแข็ง และมีความรู้พอที่จะรับมือกับชาวต่างประเทศได้

สำหรับบ่อเกิดจรรยาวิชาชีพนั้น สำหรับชาวตะวันตกพบว่ามีที่มาจากหลายส่วน เช่น การจัดตั้งสมาคมวิชาชีพ ปรัชญาทางการเมือง อิทธิพลทางศาสนา แนวความคิดหรืออุดมการณ์ของผู้รู้ หรือพระมหากษัตริย์ ความจำเป็นเฉพาะหน้า หรือวินัย ฯลฯ เป็นต้น แต่สำหรับจรรยาข้าราชการไทยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีรากฐานมาจากหลายแหล่ง คือ หลักจริยธรรมที่ได้จากอิทธิพลของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ ทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ และราชวสดีธรรม หลักจริยธรรมที่ได้จากคำสาบาน กฎหมาย หรือวินัย หลักจริยธรรมที่ได้จากคำสาบานของข้าราชการที่เข้ารับตำแหน่งสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ในรัชสมัยนั้น หรือเป็นหลักจริยธรรมที่ได้รับการระบุไว้ในกฎหมาย หรือวินัยของข้าราชการ เช่น กฎหมาย ลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.1895 กฎมณเฑียรบาล จ.ศ.720 และหลักจริยธรรมที่ได้จากพระราชดำริและพระราโชวาทของรัชกาลที่ 5 รวมทั้งโอวาทของข้าราชการระดับสูง ซึ่งระบุถึงหลักจริยธรรมที่ข้าราชการควรประพฤติไว้ทั้งสิ้น จากการกำหนดจรรยาข้าราชการตั้งแต่อดีตดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ามีการให้ความสำคัญในเรื่องจรรยาข้าราชการเพื่อให้เป็นวิชาชีพที่เป็นที่ยอมรับของสาธารณชนมานาน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2468 ได้มีการวางระเบียบข้าราชการพลเรือนให้เป็นระเบียบแบบแผน เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการเป็นอาชีพ และให้ข้าราชการรักษาวินัย จึงได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน” เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2472 โดยกำหนดให้มีการสอบแข่งขันเข้ารับราชการโดยใช้ระบบคุณธรรม ซึ่งมีการกำหนดวินัยและจรรยาข้าราชการไว้ การนำเอาระบบคุณธรรมดังกล่าวมาใช้กับระบบราชการ มีผู้กล่าวไว้ว่าเป็นการเหมาะสม เพราะข้าราชการเป็นบุคคลที่มีฐานะพิเศษแตกต่างจากบุคคลที่มีอาชีพอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ต้องทำหน้าที่ในการบริหารสาธารณะต่อประชาชนโดยไม่เลือกหน้า และเป็นฝ่ายที่ต้องนำนโยบายของชาติมาปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลโดยข้อหนึ่งของหลักคุณธรรมคือ ข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ จรรยาข้าราชการหรือแนวทางการประพฤติของข้าราชการในอดีตจึงปรากฏอยู่ในรูปแบบวินัย ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดวินัยของกฎหมายพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน การบัญญัติในกฏหมายดังกล่าว จึงเป็นการถ่ายทอดเนื้อหาจรรยาข้าราชการแบบไม้แข็ง มีการกำหนดบทลงโทษและการให้รางวัล จรรยาข้าราชการจึงกลายเป็นทั้ง “เครื่องมือเชิงปราบปราม” บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม และ “เครื่องมือทางอุดมการณ์” ที่หล่อหลอม (Socialize) ผ่านกลไกการถ่ายทอดในสื่อต่าง ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญในการนำถ้อยคำจรรยามาใช้ในการสาบานหรือพิธีกล่าวปฏิญาณตนของข้าราชการ โดยมุ่งหวังการหล่อหลอมความเชื่อ และค่านิยมของคนในสังคมราชการให้คล้อยตามได้บ้าง ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนแบบแผนบางอย่างของระบบราชการได้ด้วย

ปัจจุบัน จรรยาข้าราชการเป็นไปตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หมวด 5 การรักษาจรรยาข้าราชการ มาตรา 78 กำหนดว่าข้าราชการพลเรือนสามัญต้องรักษาจรรยาข้าราชการตามที่ ส่วนราชการกำหนดไว้โดยมุ่งประสงค์ให้เป็นข้าราชการที่ดี มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

  1. การยึดมั่นและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง
  2. ความซื่อสัตย์สุจริตและความรับผิดชอบ
  3. การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
  4. การปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
  5. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน

ให้ส่วนราชการกำหนดข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการเพื่อให้สอดคล้องกับ ลักษณะของงานในส่วนราชการนั้นตามหลักวิชาและจรรยาวิชาชีพในการกำหนดข้อบังคับว่าด้วยจรรยาข้าราชการตามวรรคสอง ให้จัดให้มี การรับฟังความคิดเห็นของข้าราชการและประกาศให้ประชาชนทราบด้วย

องค์กรคุ้มครองจริยธรรม

คณะกรรมการจริยธรรม

รายละเอียด....


กลุ่มคุ้มครองจริยธรรม

รายละเอียด....

 

ข่าวจริยธรรม