ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

ที่มาของระบบพนักงานราชการ

ภายหลังการปรับเปลี่ยนโครงสร้างส่วนราชการตามการปฏิรูประบบ ราชการ เมื่อปี พ.ศ.2545 สำนักงาน ก.พ. ได้นำระบบลูกจ้างสัญญาจ้างเดิมมาปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานในหน่วยงานภาครัฐ ให้มีความหลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งขยายผลให้มีความหลากหลายของรูปแบบการจ้างงานในส่วนของการจ้างผู้ทรง คุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยได้เปลี่ยนชื่อจาก “ลูกจ้างสัญญาจ้าง” เป็น “พนักงานราชการ” เพื่อดึงดูดใจและแสดงสถานะที่ชัดเจน ตลอดจนการวางระบบบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เรื่องการกำหนดลักษณะงาน ตำแหน่ง และกรอบอัตรากำลัง การกำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ การสรรหาและเลือกสรร และการประเมินผลการปฏิบัติงาน ภายใต้หลักการบริหารทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ คือ หลักสมรรถนะ (Competency) หลักผลงาน (Performance) และหลักคุณธรรม (Merit) ตลอดจนมอบอำนาจให้ส่วนราชการบริหารจัดการเอง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารภาครัฐแนวใหม่ ดังนั้นระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ จึงกำหนดไว้อย่างกว้าง ฯ เพื่อให้ส่วนราชการมีความอิสระและยืดหยุ่น

กลไกของระบบพนักงานราชการประกอบด้วยคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และคณะอนุกรรมการบริหารพนักงานราชการ (อ.คพร.) ทำหน้าที่แทน คพร. ในด้านต่าง ๆ จำนวน 4 คณะ ได้แก่

  • คณะที่ 1 ด้านการกำหนดลักษณะงานกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์
  • คณะที่ 2 ด้านการสรรหาและเลือกสรร และการประเมินผลการปฏิบัติงาน
  • คณะที่ 3 ด้านกฎหมายและวินัย
  • ​คณะเฉพาะกิจ ด้านเกี่ยวกับการพัฒนาระบบพนักงานราชการ

 

ความหมายของพนักงานราชการ

พนักงานราชการ หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างโดยได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อเป็นพนักงานของรัฐในการปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการนั้น

 


ประเภทพนักงานราชการ

ประเภทของพนักงานราชการ มี 2 ประเภท คือ

  1. 1. พนักงานราชการทั่วไป ได้แก่ พนักงานราชการซึ่งปฏิบัติในลักษณะเป็นงานประจำทั่วไป ประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ
    • 1.1 กลุ่มงานบริการ
    • 1.2 กลุ่มงานเทคนิค
    • 1.3 กลุ่มงานบริหารทั่วไป
    • 1.4 กลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ
    • 1.5 กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ
  2. 2. พนักงานราชการพิเศษ ได้แก่ พนักงานราชการซึ่งปฏิบัติงานในลักษณะที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญสูงมากเป็นพิเศษ ปฏิบัติงานในเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นเฉพาะเรื่องของส่วนราชการ มี 1 กลุ่ม คือ กลุ่มงานเชี่ยวชาญพิเศษ ลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงาน โปรดดูประกาศ คพร. เรื่อง การกำหนดลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะของกลุ่มงานและการจัดทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ

กรอบอัตรากำลัง

การจัดทำกรอบอัตรากำลัง ส่วนราชการจะต้องทำกรอบอัตรากำลังที่มีระยะเวลา 4 ปี โดยพิจารณาถึงการใช้กำลังคนในภาพรวมของส่วนราชการ ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความจำเป็นตามภารกิจและยุทธศาสตร์ของส่วนราชการ

ขั้นตอนการจัดทำกรอบอัตรากำลัง

  1. สำรวจภารกิจและอัตรากำลังมีอยู่ในปัจจุบัน
  2. ตรวจสอบภารกิจตาม ข้อ 1 โดยการวิเคราะห์ภารกิจและการใช้กำลังคน ดังนี้
  3. แยกภารกิจที่ได้ตาม ข้อ 2 ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ภารกิจหลัก ภารกิจรอง และภารกิจสนับสนุน ตามแนวคิดในการจัดอัตรากำลังตามภารกิจ ดังนี้
    • ภารกิจหลัก หมายถึง งานตามกฎหมาย หรืองานกำหนดนโยบาย หรืองานที่ทำเพื่อความคงอยู่ขององค์กรตามบทบาทภารกิจของหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติควรเป็นข้าราชการประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ที่เหลือเป็นพนักงานราชการหรือจ้างเหมา
    • ภารกิจรอง หมายถึง งานที่ทำเพื่อสนับสนุนภารกิจหลัก หรือการนำนโยบายไปปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติควรเป็นข้าราชการประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ที่เหลือเป็นพนักงานราชการหรือจ้างเหมา
    • ภารกิจสนับสนุน หมายถึง งานด้านธุรการและบริการผู้ปฏิบัติควรเป็นข้าราชการประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ที่เหลือเป็นพนักงานราชการหรือจ้างเหมา 4. จัดทำตารางภารกิจและจำนวนกำลังคนที่ใช้ตาม ข้อ)
  4. โดยแยกเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และอื่น ๆ
  5. แสดงจำนวนอัตรากำลังพนักงานราชการจาก ข้อ 5 แยกตามกลุ่มลักษณะงาน เป็นกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ
  6. เสนอกรอบอัตรากำลังที่ทำเสร็จแล้วต่อ อ.ก.พ. กระทรวง หรือคณะกรรมการที่ทำหน้าที่คล้าย อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาให้ความเห็นชอบ
  7. เมื่อ อ.ก.พ. กระทรวงให้ความเห็นชอบแล้ว ส่งเรื่องมาที่สำนักงาน ก.พ. เพื่อเสนอต่อ คพร. พิจารณา
  8. เมื่อส่วนราชการได้รับแจ้งมติ คพร. ที่เห็นชอบกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการแล้ว สามารถดำเนินการบริหารอัตรากำลังพนักงานราชการได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คพร. กำหนด ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร

หลักเกณฑ์การสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการทั่วไป โปรดดูประกาศ คพร. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสรรหาและการเลือกสรรพนักงานราชการ และแบบสัญญาจ้างของพนักงานราชการ

การทำสัญญาจ้าง

  1. ส่วนราชการทำสัญญาจ้างผู้ผ่านการเลือกสรร ด้วยแบบสัญญาจ้างตามที่กำหนด โดยมีระยะเวลาตามความจำเป็นหรือความเหมาะสมกับภาระงาน เช่น 2 เดือน 3 เดือน หรือ 2 ปี 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 4 ปี
  2. ให้กรอกข้อความ หรือจัดทำรายละเอียดต่างๆ ในสัญญาจ้างให้ชัดเจนครบถ้วน และสมบูรณ์ ทั้งนี้เพราะในระบบพนักงานราชการ ส่วนราชการ จะต้องใช้สัญญาจ้างในการบริหารจัดการพนักงานราชการตลอดอายุสัญญา
  3. หัวหน้าส่วนราชการ หรือผู้ที่หัวหน้าส่วนราชการมอบหมายเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างในฐานะส่วนราชการ กับคู่สัญญา คือ พนักงานราชการ
  4. ส่วนราชการต้องควบคุม หรือดูแลการปฎิบัติตามสัญญาจ้างในระหว่างสัญญา
  5. กรณีที่สัญญาจ้างของพนักงานราชการสิ้นสุด และส่วนราชการมีภาระที่จำเป็นต้องต่อสัญญา ส่วนราชการต้องทำสัญญาจ้างใหม่ตามแนวทางของการทำสัญญาจ้างในครั้งแรก โดยให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการประเมินผลการปฎิบัติงานตามประกาศ ค.พ.ร. เรื่องแนวทางการประเมินผลการปฎิบัติงานของพนักงานราชการ

การประเมินผลการปฏิบัติงานสำหรับพนักงานราชการ โปรดดูประกาศ คพร. เรื่อง แนวทางการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ (แบบประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานราชการ-ท้ายประกาศ)