ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

ก.พ.


ประวัติ ก.พ.

ระบบข้าราชการพลเรือนไทย ในปัจจุบันวัฒนาการมาจากระบบข้าราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งก่อน พ.ศ.2472 ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับราชการ และไม่มีระเบียบข้าราชการพลเรือนส่วนกลางให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันจนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตรับสั่งในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2468 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเห็นควรมีกรรมการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระดำรงราชานุภาพคิดวางระเบียบในเรื่องนี้

เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นทูล เกล้าฯ ถวาย ก็เป็นเวลาใกล้เคียงกันกับที่ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการลงโทษข้าราชการพลเรือน ซึ่งนายอาร์.กี ยอง ที่ปรึกษาร่างกฎหมายชาวต่างประเทศ เป็นผู้ร่างถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งร่างกฎหมายให้อภิรัฐมนตรี และเสนาบดีต่างๆ พิจารณาให้ความเห็นหลังจากอภิรัฐมนตรี และเสนาบดีต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นพร้อมทั้งมีคำวิจารณ์ของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้น โดยมีพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นนายกกรรมการ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีวัต เจ้าพระยาพิชัยญาติ และพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ เป็นกรรมการ และนายประดิษฐสุขุม ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้ได้พิจารณาปรับปรุงร่างระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้นแล้วนำ ทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องนี้ในเสนาบดีสภาแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการกลางสำหรับรักษาระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้น เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2470 เพื่อดำเนินการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จัดการสอบเพื่อเลือกสรรผู้สมัครเข้ารับราชการพลเรือน และจัดการศึกษาของนักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ

กรรมการนี้ได้พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ร่างกฎข้อบังคับ และหลักสูตรการสอบวิชาข้าราชการพลเรือนเสร็จแล้วจึงนำทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากได้มีการพิจารณาแก้ไขในที่ประชุมเสนาบดีหลายครั้ง ก็ทรงประกาศ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2471 เป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2471 ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2472 โดยมีกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งเรียกกันโดยย่อว่า "ก.ร.พ." เป็นผู้รักษา และดำเนินตามพระราชบัญญัตินี้หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อพ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้เข้ารูปตามระบอบการปกครองใหม่ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2476 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2477 ซึ่งเป็นวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งเรียกโดยย่อว่า "ก.พ." จึงเกิดขึ้นแทนกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน หรือ "ก.ร.พ."

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือก.พ. ตามรูปใหม่นี้ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 5 ราย แต่ไม่เกิน 7 ราย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร กับให้รัฐมนตรีว่าการแห่งกระทรวงที่มีเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาของก.พ. มานั่งประชุมเป็นกรรมการด้วย ตั้งแต่เริ่มใช้พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา ก.พ. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

ต่อมาในปี 2518 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และเปลี่ยน องค์ประกอบของ ก.พ. ใหม่ โดยมิได้กำหนดให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ก.พ. โดยตำแหน่งทั้งนี้โดยมีเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มีหลักการให้แยกข้าราชการการเมือง ออกจากข้าราชการประจำ ดังนั้น ก.พ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล สำหรับข้าราชการประจำ จึงไม่ควรประกอบด้วยข้าราชการ การเมือง จะมีข้อยกเว้นก็เพียงแต่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายกำหนดนโยบาย (คณะรัฐมนตรี) และฝ่ายที่รับนโยบายไปปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 คงแบ่งข้าราชการพลเรือนออกเป็น 2 ประเภท คือ กรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งได้แก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธาน ก.พ. และเลขาธิการ ก.พ. กับอีกส่วนหนึ่งคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นคงมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ราย แต่ไม่เกิน 7 รายเช่นเดิม พระราชบัญญัติฉบับนี้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเป็นให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลักราชการ ซึ่งรับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดี (แต่เดิมกำหนดให้เป็นตำแหน่งอธิบดี หรือเทียบเท่า) ทั้งนี้ เพื่อให้มีการ คัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2520 เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของ ก.พ. เป็นให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ราย แต่ไม่เกิน 9 ราย และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของกรรมการเป็นให้ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากผู้ซึ่งรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า

การให้มีจำนวนกรรมการ ก.พ. เพิ่มขึ้น และมิให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการอยู่เข้าร่วมเป็นกรรมการ ก.พ. ด้วยไม่น้อยกว่า 7 รายนั้น เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่า กรรมการผู้เป็นข้าราชการพลเรือนย่อมรู้สภาพ และความต้องการ หรือประโยชน์ของข้าราชการพลเรือนเป็นอย่างดี การพิจารณาเรื่องต่างๆ โดย ก.พ. จึงดำเนินไปโดยเหมาะแก่สภาพข้าราชการพลเรือน และเป็นประโยชน์แก่ข้าราชการพลเรือนตามสมควร

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ได้มีการแก้ไขปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2522 ซึ่งได้แก้ไของค์ประกอบของ ก.พ. อีกครั้ง โดยให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า "ก.พ." ประกอบด้วยรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานและกรรมการ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลักราชการหรือเคยรับราชการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่ามาแล้วและมิได้เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกรัฐสภา กรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่าสิบสองคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน โดยต้องเป็นข้าราชการพลเรือน ซึ่งรับราชการอยู่ ไม่น้อยกว่าเจ็ดคนและให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย”

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราขการพลเรือน พ.ศ. 2535 และปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของ ก.พ. ใหม่ ให้ประกอบด้วยกรรมการ 3 ประเภท คือ

  1. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธาน โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติและเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการ
  2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการ บริหารงานบุคคล ด้านการบริหาร และด้านการจัดการ และด้านกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 7 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ที่มีคุณสมบัติและตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
  3. กรรมการผู้แทนข้าราชการพลเรือน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงรองปลัดกระทรวง อธิบดี หรือเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวน 5 คน

ล่าสุด ใน พ.ศ. 2548 ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกครั้ง โดยปรับเปลี่ยนบทบาทของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จากเดิมที่เป็นทั้งผู้จัดการทรัพยากรบุคคลของฝ่ายบริหาร ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม และผู้จัดโครงสร้างส่วนราชการ ปรับให้เป็นผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคลของรัฐบาล และมอบบทบาทในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมให้แก่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ส่วนบทบาทในการเป็นผู้จัดโครงสร้างส่วนราชการได้ตัดโอนไปเป็นของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อครั้งการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ.2545 องค์ประกอบของ ก.พ. จึงได้มีการเปลี่ยนแปลง อีกวาระหนึ่งในปี พ.ศ. 2548 จากเดิมที่ ก.พ. ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการ ให้เปลี่ยนเป็น ก.พ. ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้นไม่นับรวมกรรมการผู้แทนข้าราชการเนื่องจากงานในส่วนของการพิจารณานั้น ได้ถ่ายโอนให้เป็นอำนาจของส่วนราชการแล้ว โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ

ก.พ.

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. คือ คณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2471 โดยมีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า "ก.ร.พ." หรือ "คณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน" เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการพลเรือน และจัดการศึกษาให้นักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปศึกษายังต่างประเทศ

ต่อมาได้เปลี่ยนจากชื่อจาก ก.ร.พ. เป็น ก.พ. ทำหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนับตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการการแต่งตั้งโยกย้ายการเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปจนถึงการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

บทบาทของ ก.พ. จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม ด้วยการพิจารณา และดำเนินการเพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งข้าราชการที่ดีมีความรู้ ความสามารถสูง ให้ได้คนที่เหมาะสมกับงาน รวมถึงการรักษาขวัญและส่งเสริมกำลังใจ ในการทำงานของข้าราชการเป็นส่วนรวม ถือเป็นการเตรียมกำลังคนภาครัฐให้มีความพร้อมและสามารถผลักดันนโยบายของรัฐให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ อันจะช่วยให้ประเทศชาติก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

คณะกรรมการ ก.พ.

กรรมการโดยตำแหน่ง ตำแหน่ง
1 นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ประธาน ก.พ.
2 ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
3 ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรรมการ
4 เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
5 เลขาธิการ ก.พ. กรรมการและเลขานุการ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตำแหน่ง
6 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ กรรมการ
7 นายนนทิกร กาญจนะจิตรา กรรมการ
8 นายพานิช เหล่าศิริรัตน์ กรรมการ
9 นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ กรรมการ
10 นายเอกพล ณ สงขลา กรรมการ
11 นายนพดล เฮงเจริญ กรรมการ
12 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการ

อำนาจหน้าที่ของ ก.พ.

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 มาตรา 8 ก.พ. ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในด้านมาตรฐานค่าตอบแทน การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมตลอดทั้งการวางแผนกำลังคนและด้านอื่น ๆ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
  2. รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าครองชีพ สวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือน ให้เหมาะสม
  3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือน เพื่อส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ
  4. ให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลังของส่วนราชการ
  5. ออกกฎ ก.พ. และระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งการให้คำแนะนำหรือวางแนวทางในการปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ. เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
  6. ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เป็นปัญหา มติของ ก.พ. ตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย
  7. กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนในกระทรวงและกรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานจากส่วนราชการ หรือให้ผู้แทนส่วนราชการ ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริง และให้มีอำนาจออกระเบียบให้กระทรวง และกรมรายงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปยัง ก.พ
  8. กำหนดนโยบายและออกระเบียบเกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวงและทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตลอดจนจัดสรรผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาแล้วเข้ารับราชการในกระทรวงและกรมหรือหน่วยงานของรัฐ
  9. ออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดการการศึกษาและควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ตลอดจนการเก็บเงินชดเชยค่าใช้จ่าย ในการดูแลจัดการการศึกษา ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการการศึกษา เป็นเงินรายรับของส่วนราชการที่เป็นสถานอำนวยบริการอันเป็นสาธารณประโยชน์ ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
  10. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน และการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน รวมทั้งระดับตำแหน่งและประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว
  11. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้
  12. พิจารณาจัดระบบทะเบียนประวัติและแก้ไขทะเบียนประวัติเกี่ยวกับ วัน เดือน ปีเกิด และการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน
  13. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น การออกกฎ ก.พ. ตาม (5) ในกรณีที่เห็นสมควรให้สำนักงาน ก.พ. หารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ. ด้วย