Accessibility Tools

สำนักงาน ก.พ. (OCSC)

ocsc-nav-logo

ติดต่อเรา

Search
Close this search box.

เลขาธิการ ก.พ. ปฏิบัติภารกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2567

การเข้าชม

79

ครั้ง
วันที่เผยแพร่

2 สิงหาคม 2567 เวลา 13:50 น.

การเข้าเยี่ยมคารวะท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และประชุมหารือเกี่ยวกับภารกิจการดูแลจัดการศึกษานักเรียนทุนรัฐบาลในประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการศูนย์นักบริหารระดับสูง ผู้อำนวยการศูนย์สรรหาและเลือกสรร และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) ได้เข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว (นายวิชชุ เวชชาชีวะ) ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว และประชุมหารือเกี่ยวกับภารกิจการดูแลจัดการศึกษานักเรียนทุนรัฐบาลในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะแนวทางการจัดการศึกษา เงื่อนไขการชดใช้ทุน และการสนับสนุนการเลือกหน่วยงานเพื่อปฏิบัติงานชดใช้ทุนของนักเรียนทุนโครงการโคเซ็นที่ศึกษาในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือในเรื่องการบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนของข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราวในต่างประเทศด้วย

การเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับผู้บริหาร JASSO, Tokyo Japanese Language Education Center

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 เลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการศูนย์นักบริหารระดับสูง ผู้อำนวยการศูนย์สรรหาและเลือกสรร และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) ได้เดินทางไปเยือน Japan Student Services Organization (JASSO), Tokyo Japanese Language Education Center และพบปะ Mr. Toshio YOSHINO Vice President, JASSO Mr. Yosuke AMOU Director of Tokyo Japanese Language Education Center และคณะผู้บริหาร โดยเลขาธิการ ก.พ. ได้แสดงความขอบคุณ JASSO สำหรับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลซึ่งเป็นกำลังคนคุณภาพที่สำคัญของประเทศเป็นอย่างดียิ่งมาโดยตลอด และได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการจัดการศึกษาภาษาญี่ปุ่นให้แก่นักเรียนทุนรัฐบาลไทย เพื่อให้สำนักงาน ก.พ. มีข้อมูลประกอบการวางระบบการศึกษาของนักเรียนทุนโครงการโคเซ็นในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้พบปะนายพิทักษ์พงศ์ กปิญชรานนท์ นักเรียนทุนโอลิมปิกวิชาการ (ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาภาษาญี่ปุ่น และได้เยี่ยมชมห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ หอพัก และบรรยากาศในการเรียนการสอนด้วย

การประชุมนักเรียนทุนโครงการโคเซ็น ประจำปี 2567 (นักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย)

วันที่ 29-30 มิถุนายน 2567 เลขาธิการ ก.พ. ได้ร่วมพิธีเปิดและกิจกรรมการประชุมนักเรียนทุนโครงการโคเซ็น (นักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย) ประจำปี 2567 ณ หอประชุมสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดโดยสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศญี่ปุ่น และได้รับเกียรติจาก นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินทางมาพบปะ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ให้โอวาท และบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียนทุนโครงการโคเซ็น จำนวน 86 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาระดับโคเซ็น ในสถาบันโคเซ็น หรือ National Institute of Technology (NIT) จำนวน 11 แห่ง ทั่วประเทศ


ในวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 ตัวแทนนักเรียนทุนแต่ละรุ่นได้นำเสนอผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ ผลการศึกษาวิจัย และการใช้ชีวิตในโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทักษะ ความสามารถ และศักยภาพของนักเรียน และได้รับการชื่นชมจากผู้บริหารที่มารับฟังเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีประดับเข็มที่ระลึกนักเรียนทุนโครงการโคเซ็น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้นักเรียนทุกคนตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ และความสำคัญในฐานะนักเรียนทุนและอนาคตของประเทศ
วันที่ 30 มิถุนายน 2567 เลขาธิการ ก.พ. ได้บรรยายและบอกเล่าถึงความคาดหวังของระบบราชการที่มีต่อนักเรียนทุนรัฐบาลในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ รวมทั้งได้ให้ข้อแนะนำในการศึกษา การปรับตัว การเตรียมความพร้อมที่จะกลับมาทำงานที่ประเทศไทย และที่สำคัญได้แก่การจะต้องรับผิดชอบต่อความเป็นนักเรียนทุนของตนเองที่จะต้องมีต่อสังคม จากนั้น เลขาธิการ ก.พ. ได้แลกเปลี่ยนทัศนะกับนักเรียนทุนโครงการโคเซ็น ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนานและเป็นกันเอง
จากผลการประเมินกิจกรรม นักเรียนส่วนใหญ่ระบุว่า กิจกรรมทำให้มีโอกาสทบทวนบทบาท หน้าที่ของตนเอง เกิดความตระหนักถึงความคาดหวังที่มีต่อนักเรียนทุน ได้รับแรงบันดาลใจและกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน รวมทั้งมีความเข้าใจเกี่ยวกับทุนและการปฏิบัติงานชดใช้ทุนมากขึ้น

การประชุมร่วมกับผู้บริหาร Tokyo Institute of Technology กรุงโตเกียว

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการศูนย์นักบริหารระดับสูง ผู้อำนวยการศูนย์สรรหาและเลือกสรร และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) ได้เข้าเยี่ยมคารวะ Dr. Kazuya MASU อธิการบดี Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น มีนักเรียนไทย จำนวน 100 ราย และนักเรียนทุนรัฐบาล จำนวน 6 ราย อยู่ระหว่างการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือทางการศึกษาระหว่าง Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) และสถานศึกษาชั้นนำในประเทศไทย และการควบรวมกับ Tokyo Medical and Dental University ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยจะใช้ชื่อใหม่ว่า Institute of Science Tokyo หรือ “Science Tokyo” ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของ Tokyo Tech ให้มีความเชี่ยวชาญและความหลากหลายในการทางวิชาการและการบริการทางการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้ ผู้บริหาร Tokyo Tech ได้ชื่นชมคุณภาพของนักเรียนไทยและขอให้นักเรียนไทยให้ความสำคัญกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพิ่มเติม นอกเหนือจากการศึกษาวิจัยในหัวข้อวิทยานิพนธ์ และหลังจากได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับภาครัฐของประเทศไทยจาก เลขาธิการ ก.พ. แล้ว ผู้บริหารของ Tokyo Tech ได้แสดงความสนใจและแสดงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการร่วมทำวิจัยหรือการส่งบุคลากรมาศึกษาหรือฝึกอบรมในสาขาต่าง ๆ ด้วย

การเข้าเยี่ยมคารวะเลขาธิการ National Personnel Authority (NPA) และการเจรจาความร่วมมือทางวิชาการ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เลขาธิการ ก.พ. ผู้อำนวยการศูนย์นักบริหารระดับสูง ผู้อำนวยการศูนย์สรรหาและเลือกสรร และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) ได้เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Sumiya SHIBASAKI เลขาธิการ National Personnel Authority (NPA) ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในลักษณะเดียวกับสำนักงาน ก.พ.
เลขาธิการ ก.พ. และเลขาธิการ NPA ต่างกล่าวถึงความร่วมมือในระยะที่ผ่านมา ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรและแนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลร่วมกันมาโดยตลอดเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี และมีความยินดีที่จะร่วมมืออย่างต่อเนื่องต่อไปในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งประเด็นท้าทายต่อภาครัฐทั้งสองประเทศ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภาครัฐของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับความท้าทายของภาคราชการในการสรรหาและการรักษากำลังคนคุณภาพ โดยเฉพาะกำลังคนทางด้านดิจิทัล ซึ่งอาจต้องพัฒนาช่องทางการสรรหาหรือรูปแบบการจ้างแบบใหม่ให้เหมาะสมต่อไป

แชร์หน้านี้:

Skip to content