เมื่อวันที่ 5 – 7 สิงหาคม 2567 นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะผู้นำ ก.พ. อาเซียน ประเทศไทย และนายกิติพงษ์ มหารัตนวงศ์ รองเลขาธิการ ก.พ. ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโส ก.พ. อาเซียน ประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมความร่วมมืออาเซียนด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 22 (The 22nd ASEAN Cooperation on Civil Service Matters: 22nd ACCSM) การประชุมความร่วมมืออาเซียนบวกสามด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 7 (The 7th ASEAN Plus Three Cooperation on Civil Service Matters: 7th ACCSM+3) และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ณ เนการาบรูไนดารุสซาลาม โดยมีผู้นำของหน่วยงานด้านกิจการราชการพลเรือนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน อาเซียนบวกสาม และติมอร์เลสเตเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้ดำเนินการโดยเนการาบรูไนดารุสซาลามในฐานะเจ้าภาพความร่วมมืออาเซียนด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 22 ภายใต้หัวข้อ “Strengthening ASEAN Public Sector: Fit For The Future” ประกอบด้วย
- การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 22 (The Senior Official Meeting for the 22nd ASEAN Cooperation on Civil Service Matters (SOM ACCSM))
- การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนบวกสามด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 7 (The Senior Official Meeting for the 7th ASEAN Plus Three Cooperation on Civil Service Matters (SOM+3 ACCSM))
- การสัมมนาวิชาการด้านธรรมาภิบาลที่ดี Forum On Good Governance หัวข้อ “Revolutionizing the Public Sector: Artificial Intelligence for Good Governance”
- การประชุมผู้นำอาเซียนด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 22 (The Heads of Civil Service Meeting for the 22nd ASEAN Cooperation on Civil Service Matters (HCS ACCSM))
- การประชุมผู้นำอาเซียนบวกสามด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 7 (The Heads of Civil Service Meeting for the 7th ASEAN Plus Three Cooperation on Civil Service Matters (HCS+3 ACCSM))
โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
- การดำเนินการตามแผนงาน ก.พ. อาเซียน และแผนงาน ก.พ. อาเซียนบวกสาม ปี ค.ศ. 2021 – 2025 ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินการตามแผนงาน ก.พ. อาเซียน และแผนงาน ก.พ. อาเซียนบวกสาม ปี ค.ศ. 2021 – 2025 โดยในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมตามที่ปรากฏในแผนงานฯ และจะดำเนินการทุกกิจกรรมแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2025 ตามกำหนด
- การแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางการพัฒนาแผนงาน ก.พ. อาเซียน และแผนงาน ก.พ. อาเซียนบวกสาม ปี ค.ศ. 2026 – 2030 ที่ประชุมยังคงให้การสนับสนุน Priority areas เดิมตามที่ปรากฏในแผนงานปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. Enhancing workforce competencies and standards in the public sectors
2. Building institutional capacities and inter-agency coordination
3. Transformative leadership
4. Strengthening ARCs
5. Public sector reform and modernisation
และเสนอให้แผนงานฯ ฉบับใหม่มีความสอดคล้องกับ ASCC Post-2025 Strategic Plan มากขึ้น ตลอดจนเห็นควรให้กำหนดประเด็นท้าทายอื่น ๆ เพื่อรองรับบริบทใหม่ในอนาคต เช่น การพัฒนา AI การพัฒนากำลังคนคุณภาพ หรือการพัฒนากลไกในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ เป็นต้น - ถ้อยแถลงอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะเพื่อมุ่งสู่ความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตในภาครัฐ (ASEAN Statement on Strengthening Government Strategies on Mental Health and Well-Being towards Achieving Work-Life Balance (WLB) in Public Sector)
เนการาบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานความร่วมมืออาเซียนฯ ได้จัดทำร่างถ้อยแถลงอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะเพื่อมุ่งสู่ความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตในภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างหลักการ แนวทาง และกลยุทธ์ด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานของภาคราชการ ในการนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการจัดทำถ้อยแถลงดังกล่าวโดยหลักการ จะดำเนินการรับรองด้วยวิธี ad-referendum ในภายหลังต่อไป - การส่งมอบตำแหน่งประธานความร่วมมืออาเซียนด้านกิจการราชการพลเรือน
โดยในโอกาสนี้ เนการาบรูไน ดารุสซาลาม ได้ส่งมอบวาระประธานความร่วมมืออาเซียนด้านกิจการพลเรือนให้กับประเทศกัมพูชา โดยปัจจุบันประเทศกัมพูชาดำรงวาระประธานความร่วมมืออาเซียนด้านกิจการราชการพลเรือน ครั้งที่ 23 ระหว่างปี พ.ศ. 2568 – 2569 ภายใต้หัวข้อ Innovation for Better Service Delivery