รู้จักโครงการ

ที่มา

โครงการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy Project) เป็นโครงการที่สำนักงาน ก.พ. และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) ได้มีความตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นในการพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศไทย 4.0 ตามทิศทางและนโยบายของรัฐบาล และเล็งเห็นถึงโอกาสและความท้าทาย ของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลในโลกยุคปัจจุบัน ที่ข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานของรัฐ จะต้องเผชิญในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐสามารถปรับตัวและมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานในบริบทของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐและประเทศต่อไป จึงได้มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ โดยในระยะเริ่มต้น เห็นควรส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Literacy ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดทักษะด้านดิจิทัลที่ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐควรมี และสามารถพัฒนาได้ด้วยตนเอง”


หลักการและเหตุผล

โครงการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy Project) มีหลักการและเหตุผลของการดำเนินงาน ดังนี้

  1. โดยที่ปัจจุบัน โลกได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่เทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนการทำงานเฉกเช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป หากแต่จะหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตของคนอย่างแท้จริง และส่งผลให้กิดการเปลี่ยแปลงโครงสร้าง รูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระบวนการผลิต การค้า การบริการและกระบวนการทางสังคม รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างสิ้นเชิง อิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศในการวางแนวทางการดำเนินการด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานและเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
  2. ทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในระยะยาวตามนัยของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่สิบสอง พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔ และแนวคิดประเทศไทย ๔.๐ : โมเดลขับเคลื่อนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้มีการกล่าวถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้นวัตกรรม การปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจ การผลิต การค้า และการบริการ การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
  3. จากบริบทของการเปลี่ยนแปลงของโลก และทิศทางการพัฒนาประเทศดังกล่าว “ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ” ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศที่สำคัญ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและการปรับเปลี่ยนบริบทของภาครัฐ
  4. ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๐ และครั้งที่ ๖/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐ ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบแนวทางการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้นำไปใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามบทบาทและพฤติกรรมที่คาดหวังในบริบทของการปรับเปลี่ยนภาครัฐ และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้ให้ความเห็นชอบให้ “ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” (Digital Literacy) เป็นหนึ่งในทักษะด้านดิจิทัลที่ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทุกคนควรได้รับการพัฒนา

วัตถุประสงค์

เพื่อสนับสนุนการสร้างและพัฒนาทักษะด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้แก่กำลังคนภาครัฐ ในการนำเครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แทปเลต โปรแกรมประมวลผลคำ โปรแกรมตารางคำนวน โปรแกรมนำเสนองาน และสื่อออนไลน์ มาใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือมาใช้เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานหรือระบบงานในองค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ผลสัมฤทธิ์ของงานที่คาดหวัง

ผลผลิต (Output)

  1. การประชุมเชิงปฏิบัติการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะจัดขึ้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)
  2. ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ มีการพัฒนาตนเองเพื่อให้มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) โดยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือการประเมินตนเอง (Digital Literacy Self-Assessment Test) การจัดทำแผนการพัฒนาตนเอง (Individual Development Plan) การประเมินทักษะด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามมาตรฐานสากล และสื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์
  3. ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ (Technology Specialist) มีการพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น โดยการนำเครื่องมือประเมินสมรรถนะบุคคลด้านไอซีที มาใช้
  4. ส่วนราชการมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ พัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ของตนเองและสนับสนุนการพัฒนาผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง และใช้ทักษะดังกล่าวในการปฏิบัติงานและในการพัฒนากระบวนการทำงาน ระบบงานหรือการให้บริการของรัฐ ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

ผลลัพธ์ (Outcome)

  1. ข้าราชการ บุคลากรภาครัฐ รวมถึงส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ มีความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และให้การสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
  2. ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) เพิ่มมากขึ้น และสามารถใช้ทักษะดังกล่าวในการปฏิบัติงาน และนำมาสร้างสรรค์ต่อยอดในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการของรัฐ ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มากขึ้น
  3. ส่วนราชการมีบุคลากรที่มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการของรัฐ ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ขอบเขตการดำเนินงาน

  1. ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดหน่วยงานของรัฐที่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ
  2. ดำเนินการระหว่างเดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2560

กิจกรรมดำเนินงาน

โครงการพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy Project) มีกิจกรรมที่สำคัญที่จะดำเนินงานในระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2560 ดังนี้

  1. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)
  2. การแนะแนวการพัฒนาตนเองเพื่อให้เท่าทันและสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจุบันมาปรับใช้ ด้วยเครื่องมือการประเมินตนเอง (Digital Literacy Self-Assessment Test) การจัดทำแผนการพัฒนาตนเอง (Individual Development Plan) การประเมินทักษะด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามมาตรฐานสากล และสื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์
  3. การจัดการทดสอบทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (IT Users) โดยใช้เครื่องมือการประเมินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล
  4. การจัดการทดสอบสมรรถนะทางด้านไอซีทีสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (IT Specialists) โดยใช้เครื่องมือการประเมินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล
  5. การให้คำปรึกษาแนะนำและให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ของบุคลากรในสังกัด และการดำเนินงานของหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป

 

หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ocsc
tpqi