ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

หลักสูตรอุดมศึกษาของฝรั่งเศส

เพื่อให้เข้าใจง่าย หลักสูตรอุดมศึกษาของฝรั่งเศสจะรับเฉพาะผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับประกาศนียบัตรรัฐ Baccalauréat หรือ BAC หรือเทียบเท่า สำหรับนักศึกษาต่างชาติ ดังนั้น จะทราบว่าหลักสูตรใดใช้เวลาศึกษาเท่าใด จะเรียกว่าระบบ BAC + เช่นปริญญาตรี ใช้เวลาศึกษา 3 ปี จะเรียกว่า BAC + 3 เป็นต้น

เนื่องจากการศึกษาในประเทศฝรั่งเศสมีความหลากหลาย และไม่ได้จัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น นอกจากนั้น ปริญญาบัตรของรัฐมิได้ออกโดยกระทรวงศึกษาแต่เพียงกระทรวงเดียว ยังมีกระทรวงอื่นๆ อีกตามสาขาวิชา เช่น กระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม หรือแม้แต่ กระทรวงกลาโหม ข้อมูลต่อไปนี้ ถือเพียงเป็นข้อมูลโดยสรุป และเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น

หลักสูตรระยะสั้น (เจาะจงสาขาอาชีพ)

BTS – Brevet de Technicien Supérieur – เทียบได้กับ ปวส. ของไทย ใช้เวลาศึกษา 2 ปี BAC + 2

จัดสอนในโรงเรียนมัธยมปลาย (Lycée) ทั้งของรัฐและเอกชน ต้องฝึกงานประมาณ 8 - 12 สัปดาห์ หลักสูตรทั้งหมดครอบคลุมกว่า 100 สาขาอาชีพ เช่นการค้าและการบริหาร/วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม การรับนักเรียน คัดเลือกจากเอกสารการสมัคร (Dossier) การแข่งขันสูงมาก

DUT – Diplôme universitaire de technologie -(อนุปริญญาสายเทคโนโลยี) ใช้เวลาศึกษา 2 ปี BAC + 2 จัดสอนในสถาบันอุดมศึกษาเทคโนโลยีขึ้นกับมหาวิทยาลัย – Institut Universitaire de technologie หรือ IUT ศึกษาทั้งหมด 4 ภาคการศึกษา และต้องฝึกงานอย่างน้อย 10 สัปดาห์ DUT ครอบคลุม 24 สาขาวิชาในสถาบัน IUT รวม 115 สถาบันทั่วประเทศ การรับนักเรียน คัดเลือกจากจากเอกสารการสมัคร (Dossier) และการสัมภาษณ์เพื่อดูศักยภาพและแรงจูงใจ การแข่งขันสูงมากเช่นเดียวกับ BTS

ข้อสังเกต ผู้ที่จบ BTS หรือ DUT สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้โดยทันที เนื่องจากเป็นการศึกษาเน้นอาชีพ และเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน ก็สามารถเข้าศึกษาปริญญาตรี – โท ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ หรือเข้าทำวิจัยระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัย หรือเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นสูง (Grandes Ecoles) ได้เช่นกัน

************************************

หลักสูตรระยะยาว

1. มหาวิทยาลัย Universités 1.1 สายสามัญ แบ่งการศึกษาเป็น 3 วงจร เรียกว่าระบบ LMD หรือ 3 5 8 คือ * ปริญญาตรี Licence ศึกษา 3 ปี 180 หน่วยกิต (L 1 / L2 / L3) * ปริญญาโท Master ศึกษา 2 ปี – 120 หน่วยกิต (M1 / M2) * ปริญญาเอก Doctorat ศึกษา 3 ปี – 180 หน่วยกิต (งานวิจัย เรียบเรียงและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์)

1.2 สายอาชีพ * ผู้ที่จบ BTS หรือ DUT อาจเลือกศึกษาต่อปริญญาตรีสายอาชีพ - Licence professionnelle และผู้ที่จบเทียบเท่าปริญญาตรีอาจเลือกศึกษาปริญญาโทสายอาชีพ - Master professionnel * ปัจจุบัน ผู้ที่จบปริญญาโทสายอาชีพ มีสิทธิสมัครศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยได้ เช่นกัน

2. Grandes Ecoles สถาบันอุดมศึกษาวิชาชีพชั้นสูง หรือที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Grande Ecole เป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับหัวกะทิ มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ โดยสถาบันแห่งแรกๆ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 18 เพื่อสร้างบุคลากรชั้นนำของประเทศทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ Ecole Nationale des Ponts et Chaussées (ค.ศ. 1747) Ecole des Mines (ค.ศ. 1783) Ecole Polytechnique (ค.ศ. 1794) Ecole Normale Supérieure (ค.ศ. 1794) ต่อมา ในศตวรรษที่ 19 สภาหอการค้าแห่งนครปารีสได้ก่อตั้งสถาบันวิชาชีพด้านการจัดการ (Ecole supérieure de Commerce) แห่งแรกในปี ค.ศ. 1820 ในปัจจุบัน สถาบัน Grandes écoles ในฝรั่งเศสมีจำนวนกว่า 300 แห่ง ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่ม Ecoles Normales Supérieures มีอยู่ 4 แห่ง เป็นสถาบันที่สร้างนักวิชาการและนักวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นเลิศทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

2. กลุ่ม Ecoles d’Ingénieurs มีจำนวนประมาณกว่า 220 แห่ง ผลิตนักวิชาชีพชั้นนำทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. กลุ่ม Ecoles de Commerce ผลิตนักวิชาชีพด้านการจัดการและบริหารธุรกิจ

4. กลุ่มวิชาชีพอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะ สัตวแพทย์

สถาบัน Grandes écoles มีลักษณะร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมาย การรับนักศึกษา การจัดการเรียนการสอน ซึ่งทำให้เป็นที่ยอมรับว่า เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับหัวกะทิของประเทศฝรั่งเศส ดังต่อไปนี้

1. เป็นสถาบันซึ่งมุ่งสร้างบุคลากรชั้นนำทางด้านวิชาการและวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง

2. การรับรองวิทยฐานะ (หลักสูตรและสถานศึกษา) โดยรัฐบาลฝรั่งเศส เช่น การรับรองวิทยฐานะสถาบันวิชาชีพชั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะกระทำทุก 5 ปีโดยคณะกรรมการวุฒิบัตรวิศวกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

3. มีระบบการสอบคัดเลือกนักศึกษาอย่างเข้มงวด แตกต่างจากการเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีในคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยซึ่งไม่มีสอบการคัดเลือก

ตามปกติ นักศึกษาฝรั่งเศสที่ประสงค์จะเข้าเรียนต่อในสถาบันวิชาชีพชั้นสูง จะต้องสอบได้ประกาศนียบัตรมัธยมปลาย (Baccalauréat) ระดับเกียรตินิยมดีมาก และผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวดให้เข้าศึกษาหลักสูตรอุดมศึกษาพิเศษอีก 2 ปี ซึ่งเรียกว่า หลักสูตร CPGE (Classes préparatoires aux Grandes Ecoles) ในแต่ละปีการศึกษา สัดส่วนของนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าเรียนต่อหลักสูตร CPGE มีประมาณ 9 % ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดที่จบมัธยมปลายและเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

เมื่อศึกษาหลักสูตร CPGE ครบ 2 ปี นักศึกษาจะสอบแข่งขันคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันวิชาชีพชั้นสูง Grandes écoles ซึ่งมีอัตราการได้รับคัดเลือกประมาณ 50% และส่วนใหญ่ของนักศึกษาในสถาบัน Grandes Ecoles ผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีนี้

อีกวิธีหนึ่ง สถาบัน Grandes Ecoles ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์จะคัดเลือกนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตรอนุปริญญา (Bac+2) เช่น อนุปริญญาเทคโนโลยีอุดมศึกษา (DUT) โดยพิจารณาจากผลการเรียนดีเด่น และการสอบสัมภาษณ์ เข้าศึกษาต่อในสถาบัน ทั้งนี้ ในแต่ละปีการศึกษา จะมีนักศึกษาที่สำเร็จหลักสูตร DUT และมีผลการเรียนดีเด่นอยู่ในระดับ 10 – 15 % ของคะแนนรวมสูงสุดของรุ่น ได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อตามวิธีนี้ และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8 -15 % ของนักศึกษาทั้งหมดของสถาบัน

4. เมื่อเข้าศึกษาในสถาบัน Grande école นักศึกษาจะใช้เวลาศึกษาต่อตามหลักสูตรอีก 3 ปี เมื่อสำเร็จตามหลักสูตร จะได้รับปริญญาบัตรเทียบเท่าระดับปริญญาโท (Bac+5) การเรียนการสอนเน้นการสร้างพื้นฐานความรู้ทางวิชาการที่มั่นคงในสาขาวิชาชีพ การเรียนรู้วิธีการและเครื่องมือการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถระบุและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ให้ความสำคัญกับวิธีการเรียนรู้จากกรณีศึกษาและโครงงาน การทำงานกลุ่ม การฝึกงานควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน นอกจากนี้ เนื่องจากจำนวนนักศึกษามีจำกัด (ประมาณ 3000-4000 คนต่อสถาบัน) คณาจารย์จึงสามารถดูแลติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด

5. คณาจารย์ของสถาบันมีความหลากหลาย ประกอบด้วยอาจารย์ประจำซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขา และอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงและนักวิชาชีพซึ่งมีประสบการณ์

6. การร่วมมือกับภาคเศรษฐกิจในการระบุความต้องการบุคลากร การบริหาร การจัดการฝึกงานระหว่างและก่อนจบการศึกษา การวิจัยและพัฒนาตลอดจนการถ่ายทอดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

7. ความร่วมมือกับต่างประเทศ นอกจากนักศึกษาจะต้องเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ สถาบัน Grandes écoles ให้ความสำคัญกับการฝึกงานและการไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาคพื้นยุโรปเป็นเวลา 1 ภาคถึง 1 ปีการศึกษา

ตารางต่อไปนี้สรุปเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างระบบการจัดการอุดมศึกษาในสถาบัน Grandes écoles และในมหาวิทยาลัยของประเทศฝรั่งเศส

 

มหาวิทยาลัย
Grandes Ecoles

 

สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตในวิชาการทั่วไปในด้านต่างๆ (Pluridisciplinary) ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี/โท/เอก ( Bac+3, Bac+5, Bac+8)

 

 

ผลิตบัณฑิตในวิชาชีพระดับสูงเฉพาะด้าน (specialisation) เช่น วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดการและบริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ หนังสือพิมพ์ ศิลปะ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯลฯ หลักสูตร 5 ปีเทียบเท่าปริญญาโท (Bac+5)

 

 

ไม่มีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษา อัตราการจบการศึกษา 30-50 % แล้วแต่สาขา

 

 

มีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาอย่างเข้มงวด อัตราการจบสูง

 

 

จำนวนนักศึกษาในชั้นปีและชั้นเรียนมาก สัดส่วนอาจารย์ต่อ น.ศ. ต่ำ

 

 

 

จำนวนนักศึกษาน้อยสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาสูง (ประมาณ 1 : 8 )

 

 

การเรียนการสอนเน้นวิชาการภาคทฤษฎีเพื่อนำไปประยุกต์ในทางปฏิบัติ (Deduction)

 

การเรียนการสอนเน้นวิชาการและวิชาชีพควบคู่กันและเรียนรู้จากกรณีศึกษาเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปทั่วไป (Induction)

 

 

ต้นทุนการผลิตบัณฑิตเฉลี่ยปีละ 8970 ยูโร/นักศึกษา 1 คน โดยนักศึกษาจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนปีละ 169 ยูโร

 

ต้นทุนการผลิตบัณฑิตเฉลี่ยปีละ 13 880 ยูโร/นักศึกษา 1 คน โดยนักศึกษาจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนปีละ 380 ยูโร

 

ประเภทข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ