ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

การประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม ก.พ. อาเซียน ครั้งที่ 18

เลขาธิการ ก.พ. ได้มอบหมายให้ นางศิริวรรณ เมนะโพธิ (ชอ.) นางสาวทรรศวลัย พุทธทิพย์ (ชอ.) และนายสุรเดช สรรเสริญ เข้าร่วมการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม ก.พ. อาเซียน ครั้งที่ ๑๘ (Preparatory Meeting of the 18th ASEAN Conference on Civil Service Matters (ACCSM)) ณ เมืองตาไกไต สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๒๘ – ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกอีก ๑๐ ประเทศ และฝ่ายเลขานุการของอาเซียน (ASEAN Secretariat)

การประชุมดังกล่าววัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุม ACCSM ครั้งที่ ๑๘ ในระดับสูง ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากนี้อีก ๒ ครั้ง ๒) เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดทำแผนการทำงาน ก.พ. อาเซียนระยะหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (Post-2015 ACCSM Work Plan) ๓) เพื่อรายงานและประเมินผลการดำเนินงานและกิจกรรมภายใต้แผนงาน ก.พ. อาเซียน ระหว่างปี ๒๕๕๑–๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๐๘ – ๒๐๑๕)

การประชุม ACCSM เป็นเวทีที่สำคัญที่สุดในการทำงานร่วมกันในภารกิจราชการพลเรือนของประเทศสมาชิก โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพคราวละ ๒ ปี เรียงตามลำดับตัวอักษร ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ประเทศที่รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมดังกล่าวคือ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมี Civil Service Commission (CSC) เป็นหน่วยงานเลขานุการ

การประชุมทั้งสองวันเป็นไปอย่างเข้มข้นในด้านของเนื้อหาสาระ การให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบราชการพลเรือน ผู้แทนของแต่ละประเทศสมาชิกได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานและกิจกรรมภายใต้แผนงาน ก.พ. อาเซียน ที่ผ่านมา ของแต่ละประเทศสมาชิก พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำรายงานพร้อมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานและกิจกรรมภายใต้แผนงาน ก.พ. อาเซียน เช่น หลักสูตร ASEAN New-Wave Leadership (NWL)

ในส่วนของการจัดทำร่างแผนการทำงาน ก.พ. อาเซียนปี ๒๐๑๖ – ๒๐๒๐ นั้น เจ้าภาพได้ปรับรูปแบบการประชุมเป็น Workshop โดยใช้วิธี World Café โดยแบ่งผู้เข้าร่วมประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย โดยยึดเป้าหมายหลักของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ที่ได้มีการทบทวนและปรากฏอยู่ในปฏิญญาเนปิดอว์ว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ (Nay Pyi Taw Declaration for the ASEAN Community’s Post-๒๐๑๕ Vision)และเลือกเป้าหมายที่สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจของ ก.พ. อาเซียน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ลงความเห็นว่า การจัดทำร่างแผนงาน ก.พ. อาเซียน ปี ค.ศ. ๒๐๑๖-๒๐๒๐ นั้น มีรายละเอียดที่ต้องได้รับการปรับ สกัด วิเคราะห์ และสังเคราะห์อีกหลายประเด็น ทั้งประเด็นความสอดคล้องของวัตถุประสงค์ ความจำเป็นและความต้องการภายในของแต่ละประเทศ ความเป็นไปได้ในการบูรณาการแผนระหว่างประเทศ เป็นต้น ประธานจึงให้แต่ละประเทศสมาชิกกลับไปทบทวนและเพิ่มเติมรายละเอียดภายในประเทศของตน ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาภาพรวมในโอกาสต่อไป

ประเภทข่าว: 
ภาพในเนื้อหาข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ