ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

รวมประเด็น ถาม – ตอบ ข้อมูล สถิติ ทั่วไป เกี่ยวกับทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.) และการดูแลจัดการศึกษานักเรียนทุนของรัฐบาล

รวมประเด็น ถาม – ตอบ ข้อมูล สถิติ ทั่วไป เกี่ยวกับทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.) และการดูแลจัดการศึกษานักเรียนทุนของรัฐบาล

 

1. อะไรคือความหมายของ “ทุนของรัฐบาล”

ทุนของรัฐบาล หมายถึง ทุนที่ได้มาจากเงินงบประมาณแผ่นดินและทุนที่ได้จากแหล่งทุนอื่นที่ ก.พ. กําหนดเป็นทุนของรัฐบาล ซึ่งจัดสรรเพื่อการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการศึกษาของผู้รับทุน ทั้งนี้ โดยมุ่งสนองความต้องการกําลังคนของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ
เป้าหมายของทุนรัฐบาล คือ การให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณภาพ มีความรู้ ประสบการณ์ ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศ ผ่านกลไกการบริหารจัดการภาครัฐ
 

2. ปัจจุบันมีหน่วยงานใดบ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสรรทุนของรัฐบาล

นอกจากทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน ก.พ. ในการจัดสรรทุนตามความต้องการของส่วนราชการ ให้แก่ข้าราชการและบุคคลทั่วไปแล้ว ยังมีแหล่งทุนของรัฐบาลจากเจ้าของทุนอื่นๆ ตามความจำเป็นและความต้องการในการพัฒนาวิทยากรเฉพาะด้าน ตามประเภทหรือสังกัดของข้าราชการเพื่อสิ่งเสริมการขับเคลื่อนของภาครัฐในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ อาทิ ทุนกระทรวงการต่างประเทศ ทุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุนกระทรวงสาธารณสุข ทุนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทุน 1 อำเภอ 1 ทุน ในการดูแลจัดสรรของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น 
 

3. อะไรเป็นกรอบแนวทางในการจัดสรรทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.)

การจัดสรรทุนของรัฐบาล จะครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาประเทศที่ใช้กลไกภาครัฐในการขับเคลื่อน ที่ให้สอดคล้องทั้งยุทธศาสตร์ประเทศโดยรวมและแผนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของส่วนราชการ โดยให้มีการกระจายทุนอย่างเหมาะสมและสมดุล
ปัจจุบันสำนักงาน ก.พ. จัดสรรทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ให้แก่ส่วนราชการ ตามประเภททุนที่มีชื่อเรียกดังนี้
  1. ทุนกลาง คือทุนฯ ด้านการศึกษาที่จัดสรรให้แก่บุคคลทั่วไปเพื่อไปศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ในกรอบสาขาวิชาที่กำหนดตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของภาคราชการ โดยสำนักงาน ก.พ. จะพิจารณาจัดสรรผู้รับทุนฯ ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ให้แก่ส่วนราชการที่ที่ขอรับการจัดสรรตามเหตุผลความจำเป็น โดยพิจารณาถึงความต้องการของผู้รับทุนฯ ด้วย
  2. ทุนตามความต้องการของส่วนราชการ เป็นทุนการศึกษาให้แก่ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไป เพื่อไปศึกษาในระดับสูงกว่าปริญญาตรี หรือไปฝึกอบรมระยะสั้น โดยจัดสรรให้แก่ส่วนราชการตามแผนยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนากำลังคนของส่วนราชการ 
  3. ทุนลักษณะพิเศษ เป็นทุนฯ ด้านการศึกษาหรือฝึกอบรมที่จัดสรรเพื่อการเตรียมกำลังคนของภาครัฐในลักษณะเชิงรุก เพื่อเตรียมความพร้อมหรือเสริมสร้างสมรรถนะด้านการบริหารจัดการภาครัฐให้แก่ผู้ทำหน้าที่ด้านการบริหาร หรือเพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางด้านวิชาการ 
 

4. จำนวนทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี มีจำนวนเท่าใด

ในแต่ละปี ก.พ. จะจัดสรรทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.) เป็นจำนวน 500 ทุน ทั้งเพื่อการสรรหาบุคคลทั่วไปเพื่อให้ไปศึกษาต่อและกลับเข้ารับราชการเมื่อสำเร็จการศึกษา เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนทุนที่จัดสรรในภาพรวมแต่ละปี และเพื่อการพัฒนาข้าราชการที่ปฏิบัติงานอยู่แล้วในส่วนราชการต่างๆ โดยจัดสรรเป็นทุนการศึกษา และทุนฝึกอบรมระยะสั้น เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนทุนที่จัดสรรในภาพรวมแต่ละปี
 

5. การรับสมัครทุน

ในแต่ละปี สำนักงาน ก.พ. จะประกาศรับสมัครสอบแข่งขันและคัดเลือกผู้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ ตามความต้องการของส่วนราชการ/หน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้จากประกาศรับสมัครทุนตามสื่อต่างๆ หรือใน www.ocsc.go.th
 

6. เงื่อนไขข้อผูกพันในการรับทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.)

  1. ผู้รับทุนฯ จะต้องกลับเข้าปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานของทางราชการในกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน
  2. กรณีที่ผู้ได้รับทุนฯ ไม่เข้าปฏิบัติราชการหรือปฏิบัติงานของทางราชการเพื่อชดใช้ทุนตามสัญญาที่ได้ทําไว้ จะต้องชดใช้เงินทุนฯ ที่ได้จ่ายไป บวกเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจํานวนเงินทุนดังกล่าว
 

7. เงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ของนักเรียนทุนของรัฐบาล

รายละเอียดของเงินค่าใช้จ่าย ของนักเรียนทุนรัฐบาลที่ศึกษาในต่างประเทศ สามารถศึกษาได้ที่ http://www2.ocsc.go.th/education/budget
 

8. เงื่อนไขการทำสัญญาการรับทุนของรัฐบาล

จะต้องมีการดำเนินการทำสัญญาดังนี้
  1. สัญญาการรับทุน ระหว่างผู้รับทุนของรัฐบาล กับ หน่วยงานเจ้าของทุน
  2. สัญญาค้ำประกัน ระหว่างผู้ค้ำประกันผู้รับทุนรัฐบาล กับ หน่วยงานเจ้าของทุน
 

9. เงื่อนไขสัญญาค้ำประกันนักเรียนทุนของรัฐบาล 

ได้มีการปรับหลักเกณฑ์ในแต่ละช่วงเวลาดังนี้
  1. ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2536 สัญญาค้ำประกันกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันหนึ่งราย และมีการประกันในสองลักษณะ คือ การประกันด้วยทรัพย์สิน และการประกันด้วยบุคคล โดยมิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ค้ำประกันไว้ตายตัวนอกจากเป็นข้าราชการชั้นโทจะต้องแสดงหลักทรัพย์ ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของส่วนราชการผู้ทำสัญญา ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2520 ได้มีหนังสือกระทรวงการคลังกำหนดผู้ทำสัญญาค้ำประกันต้องมีหลักทรัพย์ที่คุ้มกับเงินเดือน เงินทุน เงินอื่นๆ ที่พึงชดใช้คืนหากมีการผิดสัญญา
  2. ต่อมา สัญญาค้ำประกันนักเรียนทุนรัฐบาล ได้มีการปรับปรุงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2536 ว่า
                (1) ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งมิใช้ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ และผู้ค้ำประกันจะต้องนำหลักทรัพย์มาแสดงไว้ในสัญญาค้ำประกัน โดยมีราคาหลักทรัพย์ที่คุ้มกับเงินเดือน เงินทุน และเงินอื่นๆ ที่พึงจะต้องชดใช้คืนหากมีการผิดสัญญา 
                (2) กรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ข้างต้น และส่วนราชการต้นสังกัดพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้าราชการที่ทำสัญญาไปศึกษาฯ ไม่สามารถจัดหาผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จริง จะให้ข้าราชการเป็นผู้ค้ำประกันก็ได้ แต่จะต้องมีผู้ค้ำประกันไม่น้อยกว่าสามคน
  3. ต่อมา คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 ได้มีมติเห็นชอบให้แก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำสัญญาค้ำประกันฯ ตามความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง โดยกำหนด
                (1) ให้ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นบิดาหรือมารดาของผู้ที่จะไปศึกษา โดยผู้ค้ำประกันไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ในการทำสัญญาค้ำประกัน หรือ
                (2) ในกรณีไม่สามารถจัดหาผู้ค้ำประกันตามข้อ (1) ได้ ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็นพี่หรือน้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันกับผู้ที่จะไปศึกษา โดยผู้ค้ำประกันไม่ต้องแสดงหลักทรัพย์ในการทำสัญญาค้ำประกัน หรือ
                (3) ในกรณีไม่สามารถจัดหาผู้ค้ำประกันตามข้อ (1) และ (2) ได้ ให้กระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นคู่สัญญาของผู้ที่จะไปศึกษา ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาตรวจสอบ หากผลการพิจารณาตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ที่จะไปศึกษาไม่มีบุคคลตามข้อ (1) และ (2) ที่จะมาทำสัญญาค้ำประกัน และผู้ที่จะไปศึกษามีศักยภาพสูงยิ่งในการศึกษา ก็ให้ผู้ที่จะไปศึกษาทำสัญญาลาศึกษาโดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันได้
  4. ขณะนี้ สำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การทำสัญญาค้ำประกันผู้รับทุนรัฐบาล ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่ง พาณิชย์ ในหมวดว่าด้วยค้ำประกัน ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อต้นปี 2558 โดยจะคุ้มครองผู้ค้ำประกัน ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
                (1) ไม่ฟ้องผู้ค้ำประกันจนกว่าจะทวงหนี้จากลูกหนี้ชั้นต้น (นักเรียนทุนฯ) ที่เป็นลูกหนี้ที่แท้จริงก่อน
                (2) ต้องมีการกำหนดวงเงิน ระยะเวลาการค้ำประกันที่ชัดเจนในสัญญา
     

10. กำหนดระยะเวลาการศึกษาต่อในต่างประเทศด้วยทุนของรัฐบาล (ทุน ก.พ.)

(ตัวอย่าง)
กรณีบุคคลทั่วไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
  • หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 6 เดือน ตามเหตุผลความจำเป็น)
  • ปริญญาโท 2 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 6 เดือน ตามเหตุผลความจำเป็น)
  • ปริญญาโท + ปริญญาเอก 6 ปี
    • ปริญญาเอก 4 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 1 ปี ตามเหตุผลความจำเป็น)
หลังจากนั้น ต้องขอขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัว
 
(ตัวอย่าง)
กรณีบุคคลทั่วไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร
  • หลักสูตรปริญญาตรี 3 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 1 ปี ตามเหตุผลความจำเป็น)
  • ปริญญาตรี – โท 4 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 1 ปี ตามเหตุผลความจำเป็น)
  • ปริญญาโท 1 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 1 ปี ตามเหตุผลความจำเป็น)
  • ปริญญาโท + ปริญญาเอก 4 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 1 ปี ตามเหตุผลความจำเป็น)
  • ปริญญาเอก 3 ปี (ขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนของรัฐบาลได้ 1 ปี ตามเหตุผลความจำเป็น)
หลังจากนั้น ต้องขอขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัว
 

11. ข้อมูลตัวเลขและสถิติที่น่าสนใจ เกี่ยวกับผู้รับทุนของรัฐบาล

 
 

ข้อมูลสถิติ

 

ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 
 
 
 
 
ภาพในเนื้อหาข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ