ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

แพทย์ประจำตัว (Médecin traitant)


จากที่ สนร. ได้เคยเขียนเรื่องการประกันสุขภาพ ไว้แล้วนั้น http://oeaparis.free.fr/article.php3?id_article=219&id_section=5  วันนี้จึงขอพูดถึงเรื่อง แพทย์ประจำตัว (Médecin traitant) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นลำดับต้นๆ เมื่อนักศึกษาเดินทางมาถึงฝรั่งเศส เพราะนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ทางราชการฝรั่งเศสก็ได้กำหนดให้เยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไปต้องแจ้งชื่อแพทย์ประจำตัวต่อ สำนักงานประกันสุขภาพ (Assurance Maladie) สนร. จึงขอสรุปรายละเอียดไว้ดังนี้

1. บทบาทและหน้าที่ของแพทย์ประจำตัว นอกจากการตรวจรักษาในเบื้องต้น (Consultation) แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลการรักษาพยาบาลทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มป่วย การรักษาพยาบาล ยารักษา ตลอดจนผลการตรวจ (ผลเอ็กเรย์/อัลตร้าซาวด์) รวมทั้งคอยให้คำแนะนำต่างๆ ทั้งอาหารและการปฏิบัติตนอีกด้วย

2. การเลือกแพทย์ประจำตัว ทางราชการไม่ได้มีเงื่อนไขใด แต่ นศ. ควรคำนึงถึงความสะดวก อาทิ ใกล้บ้านพัก หรือแพทย์ที่รู้จักคุ้นเคยดี ซึ่งสามารถค้นหาข้อมูลแพทย์ได้จากเว็บไซต์ อาทิเช่น Médecin Généraliste le mans ทั้งนี้แพทย์ประจำตัวอาจจะเป็นแพทย์ทั่วไป (Généraliste) หรือแพทย์เฉพาะทาง (Spécialiste) เป็นแพทย์ที่มีคลินิคของตนเองหรือเป็นแพทย์ในศูนย์การแพทย์หรือในโรงพยาบาลก็ได้ แต่ นศ. จะต้องระบุชื่อและหมายเลขประจำตัวแพทย์คนนั้นอย่างชัดเจน อนึ่ง ทันตแพทย์ (Dentiste) จักษุแพทย์ (Ophtalmologue) หรือ สูตินารีแพทย์ (Gynécologue) หรือแพทย์ผิวหนัง (Dermatologue) นศ. สามารถติดต่อได้โดยตรงไม่ต้องผ่านแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ประจำตัว

3. ขั้นตอนดำเนินการ นศ. กรอกคำร้องแจ้งชื่อแพทย์ประจำตัว ในแบบฟอร์ม S3704 - DÉCLARATION DE CHOIX DU MÉDECIN TRAITANT ซึ่ง นศ. และแพทย์ต้องเซ็นชื่อร่วมกัน แล้วนำส่งแบบฟอร์มไปยัง สำนักงานประกันสุขภาพ (Assurance Maladie) http://www.ameli.fr/fileadmin/user_upload/formulaires/S3704.pdf

4. ขั้นตอนการตรวจรักษา เมื่อโทรศัพท์นัดหมายกับแพทย์ประจำตัวเพื่อการตรวจรักษาเบื้องต้นแล้ว นศ. ต้องแสดง บัตรประกันสุขภาพ (Carte vitale) และแพทย์ก็จะเป็นผู้ส่งข้อมูลออนไลน์ตรงไปยัง กองการเงินของสำนักงานประกันสุขภาพ (Caisse Assurance Maladie) นศ. ก็จะจ่ายค่าตรวจรักษาเบื้องต้น (Frais de Consultation) เพียงบางส่วนเท่านั้น ในกรณีนี้ หาก นศ. ที่ยังไม่ได้แจ้งชื่อแพทย์ประจำตัว ก็สามารถขอให้แพทย์คนดังกล่าวเป็นแพทย์ประจำตัวได้ อนึ่ง หากแพทย์มีความเห็นว่า จำเป็นต้องตรวจเพิ่มโดยแพทย์เฉพาะทาง หรือต้องตรวจเลือด/อัลตร้าซาวด์ ก็จะมีจดหมายนำส่งตัวต่อไป

5. การเปลี่ยนแพทย์ประจำตัว นศ. สามารถทำได้ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์ประจำตัวคนเดิม และไม่ต้องแสดงหลักฐานใดๆ ประกอบ เพียงแต่ต้องกรอกข้อมูลแพทย์ประจำตัวคนใหม่ในแบบฟอร์ม S3704 อีกครั้งแล้วส่งไปที่สำนักงานประกันสุขภาพ

6. ข้อดีและประโยชน์ที่จะได้รับ

1. ได้รับการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่อง เพราะมีข้อมูลการรักษาพยาบาลในอดีตอยู่แล้ว

2. ได้รับคืนเงินชดเชยเต็มตามสิทธิจากสำนักงานประกันสุขภาพ

ตัวอย่าง ค่าตรวจรักษาเบื้องต้นที่จ่ายแก่แพทย์ประจำตัว ในอัตรา 23 ยูโร นศ. ก็จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 70 แต่หาก นศ. ไม่ได้เข้าตรวจรักษากับแพทย์ประจำตัวก็จะได้รับเงินชดเชยเพียงร้อยละ 30 ของราคา 23 ยูโร

สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศส / กุมภาพันธ์ 2560

ประเภทข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ