ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

Public Hearing ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการ

การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

1) คำชี้แจงสำหรับการแสดงความคิดเห็น

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ให้ส่วนราชการฝ่ายพลเรือนดำเนินการแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการ บัดนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้ตรวจแก้ไขร่างบทบัญญัติดังกล่าวเสร็จแล้ว โดยได้ยกร่างแก้ไขมาตรา 100 และเพิ่มเติมมาตรา 100/1 แห่งร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

1. กรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางวินัย (ร่างมาตรา 100)

     1.1 ความผิดอันเป็นมูลเหตุแห่งการกล่าวหาผู้ที่พ้นจากราชการว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้นั้นมีสภาพข้าราชการ
     1.2 การกล่าวหาผู้ที่พ้นจากราชการว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะกระทำก่อนหรือหลังจากที่ผู้นั้นพ้นจากราชการก็ได้
     1.3 กรณีที่เป็นการกล่าวหาว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนที่ผู้นั้นจะพ้นจากราชการ หรือมีกรณีที่ผู้นั้นถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาก่อนพ้นจากราชการที่มิใช่ความผิดอาญาที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการหรือความผิดลหุโทษ ให้ดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ
     1.4 กรณีที่เป็นการกล่าวหาว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงภายหลังจากที่ผู้นั้นพ้นจากราชการไปแล้ว หรือมีกรณีที่ผู้นั้นถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาหลังพ้นจากราชการที่มิใช่ความผิดอาญาที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการหรือความผิดลหุโทษ ให้เริ่มดำเนินการสอบสวนทางวินัยภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ และต้องสั่งลงโทษให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ
     1.5 กำหนดข้อยกเว้นว่า หากมีกรณีการเพิกถอนคำสั่งลงโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครอง องค์กรพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัย เพราะเหตุที่กระบวนการดำเนินการทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษใหม่ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด หรือมีมติ  แล้วแต่กรณี
     1.6 กรณีที่ผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ให้งดโทษ

2. กรณีการดำเนินการทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด (ร่างมาตรา 100/1)

แม้ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากราชการไปแล้ว ให้ดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด โดยนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาบังคับใช้ และไม่นำเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหามาบังคับใช้

2) กำหนดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็น

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เห็นชอบให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้มีการรับฟังความเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย โดยการรับฟังความเห็นอย่างน้อยต้องผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนั้น หรือผ่านเว็บไซต์ www.lawamendment.go.th

ในการนี้ จึงกำหนดให้มีการแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. www.ocsc.go.th และ www.lawamendment.go.th ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2560

-----------------------------------

หมายเหตุ :   ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักมาตรฐานวินัย สำนักงาน ก.พ. โทร 0 2547 1623
 

ท่านสามารถอ่านรายละเอียดการร่างกฎหมายและแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะได้ที่เว็บไซต์ต่อไปนี้

ระหว่างวันที่ 1-15 ธันวาคม 2561

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ