ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

ขอเชิญร่วมงาน วันมูลนิธิพันเอก จินดา ณ สงขลา ประจำปี พ.ศ. 2563

งานวันมูลนิธิพันเอก จินดา  ณ สงขลา ประจำปี พ.ศ. 2563
        สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับมูลนิธิพันเอกจินดา ณ สงขลา กำหนดให้มีการจัดงานวันมูลนิธิพันเอก จินดา  ณ สงขลา ประจำปี พ.ศ. 2563 ในวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 08.00 – 11.30 น. ณ ห้องประชุมจินดา ณ สงขลา อาคาร 3 สำนักงาน ก.พ. จังหวัดนนทบุรี

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://event.ocsc.go.th/coljinda2563

         งานวันมูลนิธิพันเอก จินดา  ณ สงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของพันเอก จินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการ ก.พ. ในการพัฒนาการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือนให้มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ส่วนราชการ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

กิจกรรมสำคัญ
          การส่งเสริมนักบริหารทรัพยากรบุคคลและหน่วยงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยจัดให้มีการพิจารณาคัดเลือกนักบริหารทรัพยากรบุคคลและหน่วยงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลดีเด่น ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจัดให้มีพิธีการมอบเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติแก่ “นักบริหารทรัพยากรบุคคลดีเด่น” และมอบโล่เกียรติยศแก่ “หน่วยงานบริหารทรัพยากรบุคคลดีเด่น” 

มูลนิธิพันเอก จินดา  ณ สงขลา

ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2529 เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของพันเอก จินดา ณ สงขลา อดีตเลขาธิการ ก.พ. ในการพัฒนาการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

           วัตถุประสงค์

           1. ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหาร
           2. ให้ความช่วยเหลือในการจัดฝึกอบรม ให้คำปรึกษา การดูงาน ผลิตเอกสารเผยแพร่เรื่องเกี่ยวกับการบริหารงานและการจัดการวิชาการ รวมตลอดถึงการให้ทุนเพื่อการศึกษา
           3. ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
           4. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

ประวัติพันเอก จินดา  ณ สงขลา  (พ.ศ. 2464 – 2524)

พันเอก จินดา  ณ สงขลา ศึกษาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง  มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เริ่มชีวิตการทำงานในฐานะนักกฎหมายในกรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายเป็นอย่างดี เห็นได้จากการได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยคนหนึ่งในกรณีต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหาร เบนเข็มอาชีพจากนักกฎหมายมาเป็นนักบริหารงานบุคคลเมื่อ พ.ศ. 2505 ในตำแหน่งรองเลขาธิการ ก.พ. และดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จนถึง พ.ศ. 2522

ผลงานสำคัญ

• ยกระดับสำนักงาน ก.พ. จากระดับกรม เป็นระดับกระทรวง ทำให้สำนักงาน ก.พ.  เป็นศูนย์กลางในการบริหารปรับปรุง จัดระบบงานของกระทรวง ทบวง กรมในราชการไทย ตามหลักวิชาการ ไม่ใช่สามัญสำนึก
• การจัดระบบการบริหารบุคคลในราชการไทยตามรอยยุคลบาทรัชกาลที่ 7
      o มุ่งมั่นให้การบริหารบุคคลในราชการเป็นระบบคุณธรรม (Merit System)
      o นำระบบจำแนกตำแหน่งตามความรับผิดชอบ (Position Classification) มาใช้แทนระบบการจำแนกตำแหน่งตามชั้นยศ (Rank Classification) โดยติดต่อขอความช่วยเหลือจากอเมริกาให้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากรัฐแคลิฟอเนียร์มาช่วยทำจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2518
      o ริเริ่มทำอัตรากำลังข้าราชการและบุคลากรเป็นครั้งแรก โดยใช้หลักวิชาการ Workflow Process, Workload Analysis และทฤษฎี Work Simplification
      o เปลี่ยนแปลงระบบการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ ริเริ่มให้มีการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการสอบ การวัดผล และนักจิตวิทยา และดำเนินการสอบรวม
      o ริเริ่มการพัฒนาข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ แม้ในช่วงแรกจะไม่ได้รับการสนับสนุน (และได้รับการคัดค้าน) จากรัฐบาล แต่พันเอกจินดาฯ ก็ไม่ยอมแพ้ จนในที่สุดการพัฒนาข้าราชการและนักบริหารก็ได้รับการสนับสนุนจาก UNDB ให้สำนักงาน ก.พ. ดำเนินการ
• จัดระบบและระเบียบการจัดเก็บทะเบียนประวัติข้าราชการ หรือ ก.พ. 7

       ผลงานปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลที่พันเอก จินดา  ณ สงขลา ริเริ่มนี้ นับเป็นรากฐานของการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่การบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายจวบจนปัจจุบัน

เอกสารประกอบข่าว: 
ภาพในเนื้อหาข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ