ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

Talent Intelligence & Management Center

ศูนย์บริหารการใช้ศักยภาพกลุ่มกำลังคนคุณภาพ (Talent Intelligence & Management Center)
• ระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ
ระบบทุนรัฐบาล
ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance and Potential System : HiPPS)
การปฏิบัติงานในโครงการเชิงยุทธศาสตร์/โครงการสำคัญระดับประเทศ (Policy Work/ Study Team: PWST) : โครงการพัฒนานักยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ (Strategist Development Program)
คู่มือการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ

ศูนย์บริหารการใช้ศักยภาพกลุ่มกำลังคนคุณภาพ (Talent Intelligence & Management Center)

นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้ความสำคัญต่อการใช้ศักยภาพของบุคลากรในภาครัฐให้สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพ และส่งเสริมให้ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้รับการยกย่องและได้รับการสนับสนุนให้ได้สร้างสรรค์งานคุณภาพอย่างสม่ำเสมอและได้มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 ให้สำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทาง ในการดูแลและสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับทุนรัฐบาลกลับมาทำงานใช้ทุน อีกทั้งได้มีข้อสั่งการในงานสัมมนา หัวข้อ “หนึ่งองศาขยับ ปรับเปลี่ยนประเทศไทย : ผสานพลังคนคุณภาพเพื่อการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ” เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 เรื่องพัฒนาการบริหารบุคลากรและกำลังคนภาครัฐ โดยให้ ก.พ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดแนวทางจูงใจให้ข้าราชการที่มีความสามารถ เช่น นักเรียนทุนรัฐบาล ข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (High Performance and Potential : HiPPS) ผู้ผ่านหลักสูตรผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย (New Wave Leaders) นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ข้าราชการที่มีสมรรถนะสูงของส่วนราชการ และข้าราชการทุกคนที่เสียสละและอุทิศตนด้วยความมานะอุตสาหะให้คงอยู่ในระบบราชการต่อไป
สำนักงาน ก.พ. จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาแนวทางการรักษากลุ่มกำลังคนคุณภาพ (Talent Retention) ผ่านกลไกการปฏิบัติงานในโครงการเชิงยุทธศาสตร์/โครงการสำคัญระดับประเทศ (Policy Study/Work Team : PWST) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์กลุ่มกำลังคนคุณภาพที่กระจายอยู่ในส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมกันขับเคลื่อนโจทย์สำคัญระดับประเทศหรือยุทธศาสตร์ประเทศ สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์และการสร้างผลกระทบในภาพกว้าง (Talent Utilization) 2) เพื่อเตรียมและพัฒนากลุ่มกำลังคนคุณภาพอย่างเป็นระบบให้มีการสั่งสมประสบการณ์ ทักษะและองค์ความรู้ที่หลากหลายมีการจัดการความรู้ เพื่อส่งเสริมความต่อเนื่องในการบริหารงาน (Talent Pipeline) และ 3) เพื่อกระตุ้นและสร้างวัฒนธรรมการหมุนเวียน/แลกเปลี่ยนบุคลากรในภาพรวมของระบบราชการ (Talent Mobility)
ผลผลิตหนึ่งในแนวทางการรักษากลุ่มกำลังคนคุณภาพ (Talent Retention) ผ่านกลไกการปฏิบัติงาน ในโครงการเชิงยุทธศาสตร์/โครงการสำคัญระดับประเทศ (Policy Study/Work Team : PWST) คือ โครงการพัฒนานักยุทธศาสตร์ เพื่อการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ (Strategist Development Program) โดยเริ่มดำเนินการในสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นส่วนราชการนำร่อง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้ศักยภาพกลุ่มกำลังคนคุณภาพที่กระจายอยู่ในส่วนราชการต่าง ๆ มาร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ
ก.พ. ในการประชุมครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 มีมติเห็นชอบแนวทางการรักษากลุ่มกำลังคนคุณภาพ (Talent Retention) ผ่านกลไกการปฏิบัติงานในโครงการเชิงยุทธศาสตร์/โครงการสำคัญระดับประเทศ (Policy Work/ Study Team: PWST) โดยให้สำนักงาน ก.พ. ขยายผลโครงการพัฒนานักยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปประเทศเชิงบูรณาการ (Strategist Development Program) รวมทั้งเห็นชอบให้มีกรอบตำแหน่งหมุนเวียน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินตามยุทธศาสตร์สำคัญและนโยบายรัฐบาล รวมถึงเพื่อกระตุ้นและสร้างวัฒนธรรมการหมุนเวียน/แลกเปลี่ยนบุคลากรในภาพรวมของระบบราชการ (Talent Mobility) อันจะทำให้สำนักงาน ก.พ. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการข้อมูลภาพรวมกลุ่มกำลังคนคุณภาพ (Excellence Center) รายงานและจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างศูนย์กลางในการบริหารการกำกับ ติดตาม และใช้ประโยชน์กำลังคนคุณภาพกลุ่มต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล และเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ

วัตถุประสงค์ของระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพในภาคราชการไทย
o เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดและรักษาข้าราชการผู้มีศักยภาพสูงไว้ในราชการ
o เพื่อให้การบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพในราชการไทยมีการบูรณาการแบบเป็นองค์รวม มีเป้าหมายการดำเนินงานชัดเจนและสามารถรองรับภาวะการขาดแคลนกำลังคนคุณภาพในอนาคตได้
o เพื่อให้ส่วนราชการไทยมีเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการกลุ่มกำลังคนคุณภาพให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละส่วนราชการ
o เพื่อพัฒนาข้าราชการผู้มีศักยภาพสูงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบให้มีคุณภาพและประสบการณ์ที่เพียงพอสำหรับตำแหน่งระดับสูง
ประโยชน์ของระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพในภาคราชการไทย
1. ประโยชน์ต่อระบบราชการ
• ระบบราชการไทยมีแนวทางการสร้างคลังกลุ่มกำลังคนคุณภาพ (Talent Inventory) ที่มีคุณภาพและจำนวนที่เพียงพอต่อการทดแทนตำแหน่งระดับสูง
• การบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพรูปแบบต่างๆ ในระบบราชการไทยมีการบูรณาการ   อย่างเป็นระบบ โดยใช้ระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงเป็นแนวคิดหลัก
• เป็นการกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานภาครัฐรูปแบบใหม่ที่มีการเรียนรู้ พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารกำลังคนคุณภาพเป็นประเด็นขับเคลื่อนความสำเร็จ
     2. ประโยชน์ต่อส่วนราชการ
• มีการบริหารจัดการกลุ่มกำลังคนคุณภาพด้วยกลยุทธ์ ประกอบด้วย การวางแผนเพื่อเตรียมกำลังคนคุณภาพ (planning) การคัดเลือกและสรรหา (recruiting & selecting) การพัฒนาและสั่งสมประสบการณ์อย่างเป็นระบบ (developing) และการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน (monitoring & evaluating) เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงและพัฒนาในระยะต่อไป
• เป็นองค์กรแห่งทางเลือกของคนที่มีคุณภาพและศักยภาพ
• มีเครือข่ายกลุ่มกำลังคนคุณภาพทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรม
     3. ประโยชน์ต่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารจัดการกำลังคนคุณภาพ
• มีโอกาสในการทำงานที่ท้าทายและงานที่ตรงกับความรู้ ความสามารถ
• มีแผน/เส้นทางอนาคตในการทำงานและได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
• มีมุมมองที่หลากหลาย ผ่านการพัฒนาที่เป็นระบบและการสั่งสมประสบการณ์ที่หลากหลาย
• มีระบบผู้สอนงานและพี่เลี้ยงทำหน้าที่สอน แนะนำและให้คำปรึกษาทั้งงานและวัฒนธรรมในการทำงาน
• มีเครือข่ายระหว่างส่วนราชการทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรม

 

 

https://www.ocsc.go.th/HiPPS

 

https://www.ocsc.go.th/scholarship

https://www.ocsc.go.th/PWST

 

https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/document/khuumuuetalent63_fin...

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์นักบริหารระดับสูง สำนักงาน ก.พ.
0 2547 1876 และ 0 2547 1000 ต่อ 6863
Email : [email protected]

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ