|
การพัฒนาข้าราชการพลเรือน
ยินดีต้อนรับสู่สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน
สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน(สพข.)
ที่ตั้ง : สำนักงาน ก.พ. นนทบุรี อาคาร 3 ชั้น 2 โทรศัพท์ : 0 2547 1806
บทบาทของสำนักงาน ก.พ. ต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
สำนักงาน ก.พ. ในฐานะองค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือนของประเทศไทย มีบทบาทโดยตรงในเสาสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักตามแผน Roadmap สู่ประชาคมอาเซียน
หน้าที่หลัก 2 ประการของ ASCCคือ การพัฒนามนุษย์ (Human Development)และการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาครัฐในการให้บริการประชาชน(Building Civil Service Capability)โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการทำงานของระบบราชการในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ตอบสนองต่อภารกิจของรัฐและการให้บริการประชาชน ตลอดจนปรับบทบาทและภารกิจของระบบราชการให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก และให้มีการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาคนระหว่างข้าราชการของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้กำลังคนภาครัฐของภูมิภาคอาเซียนมีความรู้ความสามารถและมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความสามารถต่อการบริหารการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม
การประชุม ก.พ. อาเซียน(The ASEAN Conferences on Civil Service Matters: ACCSM)
การประชุม ก.พ. อาเซียนหรือ ACCSM เป็นการประชุมเพื่อประสานความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน มีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เพื่อเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ในการดำเนินการปรับปรุงระบบราชการ รวมทั้งเสนอแนวทางการให้การศึกษาทางด้านการบริหารและการฝึกอบรม
- เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบราชการในแต่ละประเทศ
- เพื่อเป็นการทบทวนแผนการปฏิบัติการของโครงการความร่วมมือในการปรับปรุงระบบราชการในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ทันสมัย
- เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกให้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการบริหารและการจัดการ
- เพื่อความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานราชการในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำนักงาน ก.พ. กับการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้าน Leadership Development
ในการประชุม Pre-Conference Technical Working Group ที่เมือง Tagaytay ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 3 - 6 ธันวาคม 2537 ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลการพัฒนาเฉพาะด้านหรือ ASEAN Resource Center(ARC)ที่เสนอโดยผู้แทนสำนักงาน ก.พ. จากประเทศไทย คือ นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือนในขณะนั้น ซึ่งได้เสนอเมื่อคราวประชุม ก.พ. อาเซียน ครั้งที่ 5 (พ.ศ.2532) ที่ประเทศอินโดนีเซียและครั้งที่ 6 (พ.ศ.2534) ที่ประเทศบรูไน แต่เนื่องจากในขณะนั้นโครงการไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากองค์การระหว่างประเทศ จึงไม่สามารถดำเนินโครงการในช่วงเวลาดังกล่าวได้
ต่อมาเมื่อมีการประชุม ณ เมือง Tagaytay ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ประชุมเห็นชอบให้บรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในแผนของ ก.พ. อาเซียน และโดยที่ประเทศไทยได้ดำเนินการผลักดันการพัฒนาในด้านนักบริหาร/ผู้นำมาโดยตลอด ที่ประชุม ก.พ. อาเซียนจึงได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูล ASEAN Resource Center (ARC) ทางด้าน Leadership Development หรือการพัฒนานักบริหาร/ผู้นำ เรียกโดยย่อว่า ARC-LD มีที่ทำการอยู่ ณ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. จังหวัดนนทบุรี เป็นโครงการหนึ่งภายใต้การดำเนินงานของสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน มีวัตถุประสงค์เพื่อ
- พัฒนาผู้นำภาครัฐในภูมิภาคอาเซียนให้มีความพร้อมในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาประเทศตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
- เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิดใหม่ๆ ด้านการพัฒนาประเทศในภูมิภาคอาเซียน
การดำเนินการของ ARC-LD ในระยะแรก เน้นการพัฒนาผู้นำเฉพาะในภาคราชการไทยในโครงการ “พัฒนาผู้นำคลื่นลูกใหม่” และการจัดทำคู่มือพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มทักษะการเป็นผู้นำ เรื่อง การเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) การสอนงาน (Coaching) และการมอบหมายงาน (Job Assignment) ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 จึงได้เริ่มดำเนินการพัฒนาหลักสูตรและจัดฝึกอบรมให้แก่ข้าราชการจากต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งมีการจัดโครงการ ASEAN New-Wave Leadership Development เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการอื่นๆ ทั้งที่เป็นโครงการตามคำขอจากหน่วยราชการในต่างประเทศและโครงการตามความร่วมมือกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ
สำนักงาน ก.พ. กับการเตรียมความพร้อมข้าราชการไทยสู่ประชาคมอาเซียน
สำนักงาน ก.พ. มีความตระหนักในการสร้างและเตรียมความพร้อมข้าราชการไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยได้เสนอแนวทางการเสริมสร้างความพร้อมในการพัฒนาข้าราชการสู่ประชาคมอาเซียนในการประชุม ก.พ. ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ ดังนี้
ปี 2554 ระยะการประเมินและสร้างความตระหนัก ให้มีแนวทางดำเนินการสร้างความตระหนัก ตื่นตัว และสร้างเครือข่าย โดยรวมถึงการจัดทำหนังสือแจ้งเวียนส่วนราชการถึงแนวทางในการเตรียมความพร้อมข้าราชการ การปรับปรุงเครื่องมือสื่อสารการพัฒนา เช่น การเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) หลักสูตรภาอังกฤษ และหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร การส่งเสริมให้เกิดระบบการแลกเปลี่ยนบุคลากรระยะสั้นระหว่างข้าราชการของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ การให้ความรู้และพัฒนาข้าราชการในระยะนี้ จะเน้นความรู้ ทักษะและสมรรถนะพื้นฐานเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และแผนแม่บทของแต่ละด้าน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริหารและกลุ่มข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นลำดับต้น
ปี 2555-2556 ระยะการพัฒนาและปรับใช้ เป็นการขยายการพัฒนาและสร้างความพร้อมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก โดยส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเตรียมความพร้อมระหว่างส่วนราชการ อีกทั้งการพัฒนาบุคลากรภาคราชการจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการพัฒนาของแต่ละเสาหลักมากขึ้น ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกเหนือจากกลุ่มบริหาร
ปี 2557-2558 ระยะเร่งและเพิ่ม ให้มีการพัฒนาความรู้ ทักษะและสมรรถนะที่เข้มข้นในทุกระดับและครอบคลุมประเด็นการพัฒนาบุคลากรของทุกเสาหลัก รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ระหว่างส่วนราชการที่รับผิดชอบในต่างเสาหลักระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นด้วย