ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

การพัฒนาข้าราชการพลเรือน 

ยินดีต้อนรับสู่สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน

สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน(สพข.)
ที่ตั้ง : สำนักงาน ก.พ. นนทบุรี อาคาร 3 ชั้น 2 โทรศัพท์ : 0 2547 1806

ติดต่อ สพข. เอกสารเผยแพร่และบรรยาย Hotline ช่วง COVID-19

โครงการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาดุลยภาพของข้าราชการ 

๑. หลักการและเหตุผล

กระบวนการบริหารงานบุคคลภาครัฐแนวใหม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และถือว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทรัพยากรบุคคลมีสมรรถนะสูงขึ้น เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนขององค์กร ขณะเดียวกันการสร้างแรงจูงใจก็เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน การจูงใจอาจดำเนินการได้ในทุกกระบวนการของการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การจูงใจเพื่อดึงดูดคนดีคนเก่งเข้าสู่ระบบราชการ การจูงใจเพื่อรักษาคนดีคนเก่งที่มีอยู่ในระบบราชการ
ให้ทุ่มเททำงานอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ของแผ่นดินอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และยั่งยืน การที่บุคลากรภาครัฐจะทำงานได้อย่างมีระสิทธิภาพก็ต้องเป็นผู้ที่มีศักยภาพ ความรู้ และความสามารถ เพื่อผลการปฏิบัติงานที่ตรงตามความต้องการขององค์กร ซึ่งต้องใช้ทั้งความคิดและกำลังกายจึงต้องมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ

แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๖ - ๒๕๘๐) ได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรี  ของผู้สูงอายุด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้เพิ่มพูนศักยภาพของตนเอง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิต  ที่ดีในทุกมิติ และเพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก ให้ตระหนักและเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในอนาคต

ในการประชุม อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนา ครั้งที่ ๕/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ อ.ก.พ.ฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า การเรียนรู้ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ทั้งการดูแลสุขภาพตนเอง การบริหารเงินและเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการก่อนล่วงหน้าหลายปี การจัดระบบบริหารทรัพยากรบุคคล เกี่ยวกับสุขภาพ ควรส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) ที่มีความเหมาะสมกับวัย ซึ่งจะทำให้องค์กรประหยัดการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล นอกจากนี้ ควรจัดให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต การฝึกสติและสมาธิ (Mindfulness) ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต และควรส่งเสริมการสร้างโอกาสการทำงานในอนาคตให้ข้าราชการก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ เนื่องจากข้าราชการส่วนใหญ่มีสุขภาพดีและมีกำลังที่จะทำงานต่อได้จึงควรแนะนำเกี่ยวกับอาชีพหลังเกษียณอายุราชการ ทั้งการทำงานเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเอง หรือการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเรื่องการเข้าสังคม (Socialize) หลังจากเกษียณอายุราชการ ถือเป็นการเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ที่สมบูรณ์

สำนักงาน ก.พ. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการบริหารงานบุคคลและการพัฒนาบุคลากรในราชการพลเรือน เห็นความจำเป็นที่จะจัดให้มีการพัฒนาข้าราชการสูงวัย และที่จะเกษียณอายุราชการ ให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ให้ความสนใจและความสำคัญเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ และมีพลังที่จะสร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้กับสังคม ขณะเดียวกันเพื่อให้ข้าราชการสูงวัย และที่จะเกษียณอายุราชการได้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงานและการดำรงชีวิต รวมทั้งได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับปรับใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งเรื่องการปฏิบัติงาน เรื่องส่วนตัวและเมื่อพ้นจากราชการไปแล้ว สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดโครงการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาดุลยภาพชีวิตของข้าราชการขึ้น

๒.  วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงในวัยผู้สูงอายุ การดูแลรักษาสุขภาพที่ถูกวิธี ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ
๒.๒ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงได้ เพื่อการวางแผนชีวิตก่อนเกษียณอายุราชการ
๒.๓ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้และความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมในเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ แนวทางการประกอบอาชีพเสริม และการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์
๒.๔ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน และสร้างเครือข่าย
ในการสร้างกลุ่มเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมเสริมสร้างคุณภาพและคุณค่าของชีวิตภายหลังเกษียณอายุราชการ
ไปแล้ว

๓.  กลุ่มเป้าหมาย
๓.๑ หลักสูตรปัจฉิมนิเทศข้าราชการเกษียณอายุราชการ (กลุ่มที่ ๑) สำหรับข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ จำนวน ๓๐๐ คน
๓.๒ หลักสูตรสร้างดุลยภาพข้าราชการสูงวัย (กลุ่มที่ ๒) สำหรับข้าราชการที่มีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยเข้ารับการอบรมหลักสูตรสร้างดุลยภาพข้าราชการสูงวัย ที่จัดโดยสำนักงาน ก.พ. มาก่อน  จำนวน ๓๐๐ คน

๔.  แผนการดำเนินการ ระยะเวลา และสถานที่ดำเนินการ
โครงการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการ แบ่งการดำเนินการออกเป็น ๒ หลักสูตร โดยแยกตามกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย หลักสูตรปัจฉิมนิเทศข้าราชการเกษียณอายุราชการ (กลุ่มที่ ๑) สำหรับข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ และหลักสูตรสร้างดุลยภาพข้าราชการสูงวัย (กลุ่มที่ ๒) สำหรับข้าราชการสูงวัย ที่มีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป รายละเอียดดังนี้

๔.๑ หลักสูตรปัจฉิมนิเทศข้าราชการเกษียณอายุราชการ (กลุ่มที่ ๑)
       เป็นการดำเนินการอบรมให้กับข้าราชการที่จะเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๙ มกราคม ๒๕๖๗ โดยสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. เป็นการอบรมในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบปฏิบัติการ Zoom และสื่อสังคมออนไลน์ YouTube โดยมีประเด็นหัวข้อวิชาการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและวางแผนชีวิตภายหลังเกษียณอายุราชการไปแล้วในเรื่อง สิทธิประโยชน์อันพึงได้ การบริหารด้านการเงิน การดูแลสุขภาพ การเรียนรู้ด้าน IT สำหรับผู้สูงวัย โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้

๔.๒ หลักสูตรสร้างดุลยภาพข้าราชการสูงวัย (กลุ่มที่ ๒)
            ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. ระยะเวลา ๓ วัน ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ ๒๙ เมษายน - ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗เป็นการอบรมแบบออนไลน์ผ่านระบบปฏิบัติการ Zoom โดยมีประเด็นหัวข้อวิชาในการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมและวางแผนชีวิตก่อนการเกษียณอายุราชการ สิทธิประโยชน์อันพึงได้ การบริหารด้านการเงิน การดูแลสุขภาพ การเรียนรู้ด้าน IT สำหรับผู้สูงวัย โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ มาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้

-----------------------------------------------------------

รับสมัครกลุ่มที่ ๒ ที่เว็บไซต์ https://register.ocsc.go.th/registration/retire2567

หากอบรมแล้ว สามารถทำแบบประเมินโครงการได้ ที่นี่

-------------------------------------------------------------------

>>    คำถามที่พบบ่อย (FAQ)   <<

1. หนังสือเชิญที่ส่งมายังกระทรวง จะต้องส่งไปยังกรมภายใต้สังกัดกระทรวงอีกหรือไม่

    คำตอบ : สำนักงาน ก.พ. ได้ดำเนินการส่งหนังสือเชิญไปยังกรม และผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ แล้ว โดยสามารถดูรายชื่อส่วนราชการที่ ก.พ. ส่งหนังสือเชิญได้ที่นี่

 

2. สมัครเข้าร่วมโครงการไม่ทัน แต่อยากเข้าฟัง ต้องทำอย่างไร

    คำตอบ : สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการถ่ายทอดสดในวันและเวลาตามกำหนดการ ผ่านระบบ Youtube โดยสามารถรับชมสด และรับชมย้อนหลังได้

 

3. บัตรข้าราชการหมดอายุ ไม่มีบัตร หรือ บัตรสูญหาย ต้องทำอย่างไร

    คำตอบ : เนื่องจากโครงการกำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ที่ประสงค์สมัครจึงต้องใช้เอกสารในการยืนยันการเป็นข้าราชการ หากเกิดข้อขัดข้องดังกล่าว สามารถขอหนังสือรับรองจากต้นสังกัดของข้าราชการรายนั้น เพื่อแสดงตนว่าเป็นข้าราชการ และนำมาใช้แนบไฟล์แทนบัตรข้าราชการ

(การแนบภาพบัตรประชาชน หรือภาพอื่นใดที่ไม่ใช่ภาพบัตรข้าราชการจะทำให้การพิจารณาล่าช้าออกไป)

 

4. ในส่วนราชการที่มีผู้เกษียณหลายท่าน ส่วนราชการสามารถเปิดห้องประชุม และเข้า Zoom เพียงเครื่องเดียวได้หรือไม่

    คำตอบ : สามารถทำได้

 

5. ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. ต้องเข้าร่วมฟังบรรยายในส่วนของ กบข. หรือไม่

    คำตอบ : หากท่านไม่ประสงค์เข้าร่วมรับฟังการบรรยายในช่วงของ กบข. เนื่องจากไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านสามารถออกจากห้องประชุมในระบบ Zoom ได้

 

6. เพิ่งได้รับหนังสือเชิญ จะสามารถสมัครได้ถึงวันที่เท่าไหร่

   คำตอบ : สามารถสมัครได้ จนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2567

 

7. ใช้โปรแกรม Zoom เป็นอยู่แล้ว ไม่เข้าวันทดสอบระบบได้หรือไม่ 

   คำตอบ : ในช่วงแรกของการทดสอบระบบ จะมีการชี้แจงรายละเอียดกำหนดการ กฏ-กติกา ในการอบรม จากนั้นจะเป็นการแนะนำวิธีการใช้โปรแกรมเบื้องต้น หากท่านสนใจ สามารถเข้ารับฟังในช่วงต้นของการทดสอบระบบได้

 

8. ส่วนราชการจะต้องรวบรวมรายชื่อผู้ประสงค์เข้าอบรม และส่งเป็นหนังสือราชการแจ้งรายชื่อผู้เข้าอบรม ให้กับทาง ก.พ. หรือไม่

  คำตอบ : เนื่องจากสำนักงาน ก.พ. ได้รวบรวมรายชื่อและรายละเอียด ผ่านทางระบบรับสมัครที่ผู้ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการได้ให้ไว้ หน่วยงานอาจไม่จำเป็นต้องส่งหนังสือเข้ามาที่สำนักงาน ก.พ. หรือหากประสงค์จะส่งก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

9. ในวันที่อบรม หากสะดวกเข้าอบรมจากที่บ้านโดยไม่ถือเป็นวันลาได้หรือไม่

  คำตอบ : การพิจารณาในข้อดังกล่าว เป็นไปตามดุลยพินิจของหน่วยงานต้นสังกัดและ/หรือผู้บังคับบัญชาของผู้ที่ประสงค์เข้ารับการอบรม

------------------------

หากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติม เกี่ยวกับการสมัครเข้าร่วมโครงการ

สามารถโทรติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์
02-547-1747 หรือ 02-547- 1810 (สอบถามโครงการปัจฉิมฯ)