ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

 

ภาพปก

 


มาตรา  30

ผู้ที่ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงกรณีกระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก ถือว่าเป็นบุคคลผู้ขาดคุณสมบัติทั่วไปในการเข้ารับราชการตามมาตรา 30 ต้องได้รับการยกเว้นคุณสมบัติจาก ก.พ. หรือได้รับการล้างมลทินตามกฎหมาย เสียก่อนจึงจะขอบรรจุกลับเข้ารับราชการได้  แต่ส่วนราชการจะบรรจุผู้นั้นกลับเข้ารับราชการอีกหรือไม่  เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52  ที่จะพิจารณา  (นร  0709.1/ล 578  ลงวันที่  6  ธันวาคม  2544


มาตรา  52

ข้าราชการซึ่งถูกสั่งให้ออกจากราชการเพราะมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวนตามมาตรา 116  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  มิใช่ถูกออกจากราชการเพราะกระทำผิดวินัย  หากไม่ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติทั่วไปในกรณีอื่น ผู้นั้นก็สามารถขอกลับเข้ารับราชการตามเดิมได้ส่วนจะได้รับบรรจุกลับเข้ารับราชการหรือไม่ เป็นดุลพินิจของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52  (นร 0709.1/14  ลงวันที่  4  มกราคม  2545


มาตรา  59

ข้าราชการถูกลงโทษตัดเงินเดือนหลังจากได้รับเลื่อนให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น  คำสั่งลงโทษดังกล่าวย่อมไม่มีผลกระทบกับการเลื่อนระดับตำแหน่งซึ่งดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมาย  และไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 59 จึงไม่อาจยกเลิกคำสั่งเลื่อนระดับตำแหน่งได้  (นร 0709.2/ป 556  ลงวันที่  21  กันยายน  2541


มาตรา  72

ผู้ที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีต้องมีผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาได้ หากไม่มีผลการปฏิบัติงานหรือการประเมินผลปฏิบัติงานไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2538) ข้าราชการผู้นั้นก็จะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี (นร 0709.1/130  ลงวันที่  11  พฤษภาคม  2544)  


มาตรา  79

กรณีที่จะถือว่า เป็นการดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกับกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการหรือไม่  ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นเรื่อง ๆ ไป  (นร  0709.2/ล 30  ลงวันที่  4  มีนาคม  2542)  


มาตรา  82

        1. ข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ซึ่งมีหน้าที่กำกับ ดูแล การดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบ  ข้อบังคับ  และวัตถุประสงค์ของสหกรณ์  หากฝ่าฝืนคำสั่งกรมฯ  ซึ่งห้ามข้าราชการเข้าไปเป็นตัวกระทำการให้สหกรณ์ที่ตนเองรับผิดชอบการเข้าไปกระทำการในสหกรณ์  จึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ (นร 0709.1/ล 391  ลงวันที่  2  เมษายน  2545

        2. ข้าราชการได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติงานอื่นของส่วนราชการ  (จัดสรรสลากการกุศล  และเก็บเงินส่งให้กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล)  ซึ่งเป็นงานนอกเหนือจากงานในหน้าที่ ถือว่าข้าราชการผู้นั้นมีหน้าที่ราชการในเรื่องดังกล่าวด้วย  หากนำเงินที่รับไว้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวก็จะมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการได้  (นร 0709.1/(ล) 3  ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2544
 


มาตรา  84

การประมาทเลินเล่อซึ่งเป็นความผิดทางวินัยจะต้องเป็นการประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ  ส่วนความเสียหายที่เกิดแก่ราชการกรณีจะร้ายแรงเพียงใดนั้น  ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป  ซึ่งความเสียหายที่ทางราชการได้รับอาจเป็นความเสียหายที่สามารถคำนวณเป็นราคา  หรือเป็นความเสียหายที่เกิดกับภาพพจน์ชื่อเสียงของทางราชการก็ได้  (นร 0709.1/174  ลงวันที่  28  พฤษภาคม  2545)  


มาตรา  89

ข้าราชการมีหนังสือร้องเรียนกล่าวโทษข้าราชการอื่นต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปเพื่อให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่  โดยมิได้เสนอหนังสือร้องเรียนผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น  ถือว่าเป็นการใช้สิทธิในทางส่วนตัวเพื่อประโยชน์แก่ราชการมิใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการ กรณีจึงไม่เป็นความผิดวินัยฐานกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน  (นร  0709.1/ล 531  ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน  2544


มาตรา  92

        1. ข้าราชการได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อในประเทศแต่ไม่ไปเรียนตามปกติจนเป็นผลให้เวลาเรียนไม่พอ  และไม่ผ่านการสอบประจำปีในปีการศึกษาที่หนึ่ง  การขาดเรียนดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิดวินัยฐานละทิ้งหน้าที่ราชการ (นร 0709.1/259  ลงวันที่  12  พฤศจิกายน  2544) 10

        2. ข้าราชการถูกลงโทษไล่ออกจากราชการฐานละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน  โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหากภายหลังปรากฏหลักฐานว่า  ข้าราชการดังกล่าวไม่มีเจตนาละทิ้งหน้าที่ราชการ  ภรรยา หรือทายาทของข้าราชการผู้ถูกลงโทษอาจร้องขอและส่งพยานหลักฐานให้ ก.พ.พิจารณาทบทวนคำสั่งลงโทษดังกล่าวได้  (นร 0709.1/225 ลงวันที่  20  กันยายน 2544

        3. ข้าราชการเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกับบุคคลกลุ่มหนึ่งในสถานบันเทิงและถูกห้ามปรามจนกระทั่งได้แยกย้ายจากกัน  หลังจากเกิดเหตุดังกล่าวไม่มีผู้ใดพบเห็นข้าราชการผู้นั้นอีก  และผู้บังคับบัญชาได้ทำการสืบสวนแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าข้าราชการผู้นั้นน่าจะถูกฆาตกรรม  กรณีเช่นนี้ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการไว้ก่อน  (นร 0709.1/53  ลงวันที่  6  มีนาคม  2545)

        4.  เมื่อสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหรัฐอเมริกามีหนังสือแจ้งข้าราชการซึ่งได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อเดินทางกลับประเทศไทยโดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ  กรณีให้ถือว่าข้าราชการผู้นั้นได้รับแจ้งการไม่อนุมัติให้ลาศึกษาต่อเมื่อครบกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันส่งหนังสือแจ้งดังกล่าว  (นร 0709.1/183 ลงวันที่  11  มิถุนายน 2545

        5. ข้าราชการละทิ้งหน้าที่ราชการ 2 ครั้ง  ครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม2540  ถึงวันที่  26  มกราคม  2541  รวม  43  วัน  หลังจากนั้นได้กลับมาปฏิบัติราชการครั้งที่สองตั้งแต่วันที่  7 เมษายน  2541  เป็นต้นไป  และไม่กลับมาปฏิบัติราชการอีกเลย  กรณีเช่นนี้จะต้องสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 7  เมษายน  2541  เป็นต้นไป  (นร  0709.1/235  ลงวันที่  18  กรกฎาคม  2545)

        6. การนับวันสำหรับการกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหน้าที่ราชการนั้นจะต้องนับวันละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันทุกวัน  โดยนับรวมวันหยุดราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างวันละทิ้งหน้าที่ราชการด้วย  (นร  0709.2/28  ลงวันที่  8 กุมภาพันธ์  2545) 15

        7.  การที่จะพิจารณาว่าข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัยฐานละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการตามมาตรา 92 นั้น  ต้องปรากฏว่าข้าราชการผู้นั้นมีหน้าที่ราชการที่จะต้องปฏิบัติ แต่ได้ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการไปโดยไม่มีเหตุผล
อันสมควร  (นร 0709.2/ล 266  ลงวันที่  30  ตุลาคม  2541

        8. ข้าราชการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน  โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรแล้วได้กลับมาปฏิบัติราชการอีกผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษในความผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้ตามความร้ายแรงแห่งกรณี  โดยจะลงโทษปลดออก  หรือไล่ออกจากราชการก็ได้ไม่เป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี  ที่  นว 125/25032  ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2503  และมติคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ว 234  ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536  (นร 0709.1/ล 963  ลงวันที่ 19 กันยายน 2545

        9. ข้าราชการยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการในวันเดียวกับวันที่ขอลาออกผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสามารถอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ขอลาออกได้  และเมื่อผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้ข้าราชการดังกล่าวลาออกจากราชการไปแล้ว  ผู้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้นั้นในกรณีละทิ้งหน้าที่ราชการอีกได้  (นร 0709.2/ป 673  ลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541


มาตรา  98

        1. ข้าราชการที่กระทำผิดเกี่ยวกับเสพยาเสพติด  ประเภทแอมเฟตามีน(ยาบ้า)  ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  สำหรับระดับโทษ  หากมีเหตุอันควรลดหย่อนก็สามารถนำมาประกอบการพิจารณาได้
แต่จะลดโทษลงต่ำกว่าปลดออกจากราชการไม่ได้  (นร 0709.1/534  ลงวันที่ 21 กันยายน 2543

        2. ข้าราชการยื่นฟ้องผู้บังคับบัญชาต่อศาลโดยสุจริต  ถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่เป็นการกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 แต่อย่างใด  (นร 0709.1/188  ลงวันที่  28 มีนาคม  2544) 20

        3. การที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นการประพฤติชั่วตามมาตรา 98  หรือไม่  ให้พิจารณาถึงเกียรติของข้าราชการ  ความรู้สึกของสังคม  และเจตนาของผู้กระทำเป็นสำคัญ  อีกทั้งให้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งกรณีที่กระทำด้วย
เพื่อจะได้กำหนดสถานโทษให้เหมาะสมกับการกระทำผิด  (นร 0709.1/ล 109 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม  2544


มาตรา  99

        1. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรายงานผลการตรวจสอบสืบสวนว่ามีข้าราชการกระทำการทุจริต  เป็นเหตุให้เงินของทางราชการขาดบัญชี  ถือได้ว่าเป็นการชี้มูลการกระทำผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานเบื้องต้นเพียงพอที่จะกล่าวหา
ข้าราชการผู้นั้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว  (นร  0709.2/ป 242  ลงวันที่ 22  มิถุนายน 2542

        2. การดำเนินการตามมาตรา 99  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  มิใช่ขั้นตอนของการดำเนินการทางวินัย เมื่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาเรื่องที่กล่าวหาแล้วเห็นว่ากรณีไม่มีมูล  และสั่งยุติเรื่อง จึงไม่ต้องรายงานการดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 109  (นร 0709.2/818  ลงวันที่ 28  ตุลาคม  2542

        3. การที่ข้าราชการถูกแจ้งความร้องทุกข์ หรือฟ้องคดี  หากปรากฏว่ากรณีดังกล่าวไม่มีมูลเป็นการกระทำผิดวินัย  หรือพยานหลักฐานในเบื้องต้นยังไม่ชัดเจน  ผู้บังคับบัญชาไม่อาจอาศัยเหตุดังกล่าวมาดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการได้  (ด่วนที่สุด ที่ นร 0709.1/160  ลงวันที่  26  มิถุนายน  2544)  

        4. ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหามูลการกระทำผิดวินัย  เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และให้ความเห็นแก่ผู้บังคับบัญชา ไม่มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการมาให้ข้อเท็จจริง หรือเรียกเอกสารต่าง ๆ  โดยอาศัยอำนาจของตนได้  (นร 0709.1/405  ลงวันที่ 17  ตุลาคม  2544) 25

        5. ผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย  แม้จะมิใช่ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ  ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ก็มีอำนาจสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาว่า  กรณีมีมูลสมควรที่จะกล่าวหาข้าราชการในบังคับบัญชาว่ากระทำผิดวินัยหรือไม่ (นร 0709.1/282  ลงวันที่  13  ธันวาคม  2544

        6. เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการแล้ว  ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีเดียวกัน  เมื่อยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตามมาตรา 92  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวยังคงมีหน้าที่ต้องดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้นั้นต่อไป (นร 0709.1/ล 32  ลงวันที่  21  มกราคม  2545


มาตรา  102

        1. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการในเรื่องที่ผู้บังคับบัญชาได้เคยดำเนินการทางวินัยไปแล้ว  หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรณีที่ชี้มูลครั้งหลังเป็นคนละกรณีกัน  ผู้บังคับบัญชาก็ยังสามารถดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน  ตามมาตรา 102  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  ในกรณีดังกล่าวได้อีกไม่เป็นการดำเนินการซ้ำ  (นร 0709.1/210  ลงวันที่  19  มิถุนายน 2543

        2. หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนนั้น  มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสอบสวน  และผู้บังคับบัญชาดำเนินการเกี่ยวกับการสอบสวนและพิจารณาจนเสร็จสิ้นกระบวนการ  มิได้ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือระงับการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่ได้สั่งแต่งตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  หากคุณสมบัติของกรรมการสอบสวนไม่เป็นไปตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดผู้สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนย่อมจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีได้ (นร 0709.1/ล 24  ลงวันที่  31  มกราคม  2543

        3. การสอบสวนในกรณีกล่าวหาว่าข้าราชการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง แม้กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาสามารถดำเนินการโดยวิธีการที่เห็นสมควรได้ก็ตาม  แต่เพื่อความเป็นธรรมจะต้องมีการแจ้งให้ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบฐานะที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา  และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วย  (นร  0709.2/ป 403  ลงวันที่  20  สิงหาคม  2542) 30

        4. การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรงโดยไม่ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา  เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 102  และขัดกับหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรม (นร 0709.2/ล 180  ลงวันที่  29  กันยายน  2542

        5. การดำเนินการสอบสวนตามมาตรา 102  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 เป็นกระบวนการดำเนินการทางวินัย  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการสอบสวนแล้วเห็นว่าข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด  ผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะต้องรายงานการดำเนินการทางวินัยดังกล่าวไปยังอธิบดีของข้าราชการผู้นั้นตามมาตรา 109  แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว (นร 0709.2/818  ลงวันที่  28  ตุลาคม  2542)

        6. เมื่อข้าราชการมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามที่ระบุไว้ในมาตรา 52  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าข้าราชการผู้ที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนนั้นได้รับการบรรจุและแต่งตั้งมาโดยวิธีใด  และในกรณีที่ปรากฏว่าข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยอยู่ในอำนาจการสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนของผู้บังคับบัญชาหลายคนให้ผู้บังคับบัญชาที่พบการกระทำความผิดเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน  (นร 0709.1/ป 297  ลงวันที่ 31 พฤษภาคม  2544

        7. ในกรณีที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการ2  คำสั่ง  ในเรื่องกล่าวหาเดียวกันแต่ต่างกรณีกัน  เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษในกรณีตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำสั่งแรกไปแล้ว  แม้ผลการสอบสวนในกรณีตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคำสั่งที่สองจะฟังได้ว่าข้าราชการผู้นั้นกระทำผิดวินัยอีกก็ตาม  กรณีไม่อาจสั่งลงโทษข้าราชการผู้นั้นได้อีก  เพราะเป็นการกระทำผิดในเรื่องเดียวกัน  (นร  0709.1/ ล 469  ลงวันที่ 26  ตุลาคม  2544)  

        8. ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าข้าราชการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสอบสวนตามวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร  ซึ่งคำว่า  “วิธีการที่เห็นสมควร”  นั้น  หมายถึงวิธีการที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรจะใช้ในการสอบสวน  ซึ่งอาจดำเนินการด้วยวิธีใดก็ได้  แต่ทั้งนี้ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบเรื่องที่มีการกล่าวหาและต้องให้โอกาสชี้แจงเหตุผลในเรื่องที่มีการกล่าวหาด้วย  จะสั่งลงโทษโดยไม่ทำการสอบสวนก่อนไม่ได้ เว้นแต่เป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 13  (พ.ศ. 2539) (นร 0709.1/30  ลงวันที่  20  กุมภาพันธ์  2545) 35

        9. เมื่อผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหาและสั่งยุติเรื่องแล้ว  ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในเรื่องเดียวกันโดยให้รอการลงโทษไว้  ผู้บังคับบัญชาไม่อาจดำเนินการทางวินัยได้อีก เนื่องจากจะเป็นการดำเนินการซ้ำ และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้บังคับบัญชาได้สั่งยุติเรื่องก่อนวันที่  9  มิถุนายน  2539  จึงเป็นผลให้กรณีอยู่ในเกณฑ์ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 (นร 0709.2/ป 17  ลงวันที่  25  มกราคม  2542

        10. การที่ปลัดกระทรวงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ  โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 102  ประกอบกับมาตรา 52 (2)  หรือ (4)  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 หรือส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาตามมาตรา  104 (1)  หรือดำเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญทุกระดับในกระทรวงซึ่งมิใช่สำนักงานปลัดกระทรวง  ถือว่าเป็นการใช้อำนาจในฐานะปลัดกระทรวง (นร 1009.1/ล 1096  ลงวันที่ 1  พฤศจิกายน  2545

        11. ข้าราชการถูกลงโทษทางวินัยแล้ว  ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้นั้นในกรณีเดียวกันอีก  ผู้บังคับบัญชาไม่อาจสั่งลงโทษหรือเพิ่มโทษข้าราชการดังกล่าวได้  เนื่องจากเป็นการดำเนินการซ้ำ  แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกย่อมถือเป็นผู้ขาดคุณสมบัติทั่วไปสำหรับการเป็นข้าราชการ ตามมาตรา 30 (10)  ผู้บังคับบัญชาจึงต้องสั่งให้ออกจากราชการ  ตามนัยมาตรา 67  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  (นร 0709.2/565  ลงวันที่  30  ตุลาคม  2541

        12. การดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52  และผู้มีอำนาจดังกล่าวอาจมอบอำนาจการสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนให้ข้าราชการผู้อื่นปฏิบัติราชการแทนได้  หากผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวก็มีอำนาจดำเนินการสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ตามมาตรา 103  ได้  หรือหากผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวก็มีอำนาจส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กระทรวง  อ.ก.พ. กรม  หรือ อ.ก.พ. จังหวัด  แล้วแต่กรณี  พิจารณาตามมาตรา  104  ได้  (นร  0709.3/3  ลงวันที่  8  มกราคม  2544


มาตรา  106

        1. ข้าราชการได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ  โดยขณะที่ลาออกไม่ปรากฏกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  กรณีไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา  106  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถดำเนินการทางวินัยในภายหลังได้ (ด่วนมาก ที่ นร  0709.1/178  ลงวันที่  24  พฤษภาคม  2543) 40

        2. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งตั้งขึ้นเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  รายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการว่าข้าราชการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหลังจากที่ข้าราชการผู้นั้นได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว  กรณีไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 106  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  กรณีเช่นนี้  ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงตามที่มีการรายงานได้  (นร 0709.1/210 ลงวันที่  19  มิถุนายน  2543

        3. เมื่อมีการกล่าวหาเป็นหนังสือว่าข้าราชการผู้ใดมีพฤติการณ์อันพึงเห็นได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ป. หรือต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  ก่อนที่ข้าราชการผู้นั้นจะออกจากราชการ แม้คณะกรรมการ ป.ป.ป. หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจทราบ  หลังจากที่ข้าราชการผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้วก็ตาม  ผู้บังคับบัญชาก็ยังสามารถดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการผู้นั้นตามมาตรา 106  ต่อไปได้

            ทั้งนี้  การกล่าวหาเป็นหนังสือต่อหน่วยงานดังกล่าวไม่จำต้องเป็นเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ราชการเท่านั้น  การกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องอื่น  แม้อยู่นอกเหนือหน้าที่ของคณะกรรมการ  ป.ป.ป. หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  ผู้บังคับบัญชาก็สามารถดำเนินการทางวินัยตามนัยมาตราดังกล่าวได้  (นร  0709.1/335  ลงวันที่  31  ตุลาคม  2544) 42

        4. การกล่าวหาเป็นหนังสือว่ามีข้าราชการต่างสังกัดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงร่วมกันต่อผู้บังคับบัญชาหน่วยงานใด  ย่อมมีผลเป็นการกล่าวหาแต่เฉพาะข้าราชการของหน่วยงานนั้น  ไม่มีผลเป็นการกล่าวหาข้าราชการอื่น ซึ่งร่วมกระทำผิดด้วยแต่อย่างใด  ดังนั้น  หากปรากฏว่าข้าราชการอื่นซึ่งร่วมกระทำผิดได้ออกจากราชการไปแล้วก่อนที่ผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้นจะทราบเรื่อง กรณีย่อมไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 106  ที่จะดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการที่ออกไปแล้วได้  (นร  0709.1/335  ลงวันที่  31  ตุลาคม  2544) 43

        5. การกล่าวหาเป็นหนังสือว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่พึงเห็นได้ว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ตามมาตรา 106  นั้น  จะต้องระบุตัวผู้กระทำหรือละเว้นการกระทำ  ตลอดจนพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่พึงเห็นได้ว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงด้วย (นร 0709.1/260  ลงวันที่  14  พฤศจิกายน  2544) 44

        6. เมื่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานการขาดราชการเกินกว่า 15 วันของข้าราชการไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลำดับแล้ว แม้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปจะสั่งให้ทำการสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวก่อน  และมีความเห็นว่ากรณีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหลังจากที่ข้าราชการผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้ว  ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจก็ยังสามารถดำเนินการตามมาตรา 106  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  ได้ (นร 0709.2/240  ลงวันที่  25  มีนาคม  2542) 45

        7. การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานการทุจริตของผู้ใต้บังคับบัญชาไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปก่อนที่ข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาผู้นั้นออกจากราชการ ถือว่าการรายงานดังกล่าวเป็นการกล่าวหาเป็นหนังสือตามมาตรา 106  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  แล้ว  ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสามารถดำเนินการทางวินัยต่อไปได้เสมือนว่าข้าราชการผู้นั้นยังไม่ได้ออกจากราชการ  (นร  0709.1/200  ลงวันที่  18  กันยายน  2544

        8. ข้าราชการซึ่งออกจากราชการไปแล้วย่อมไม่มีสภาพเป็นข้าราชการอีก  ผู้บังคับบัญชาจึงไม่อาจสั่งเพิ่มโทษในกรณีกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงกับข้าราชการผู้นั้นได้  และกรณีเช่นนี้ไม่อาจสั่งงดโทษตามมาตรา 106  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  ได้เช่นกัน  เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  (นร  0709.2/ป 80  ลงวันที่  17  มีนาคม  2542)

        9. การดำเนินการตามมาตรา 106  เมื่อผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่า  ข้าราชการผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ให้ผู้บังคับบัญชางดโทษแก่ข้าราชการผู้นั้น  เนื่องจากมาตรา 106  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  มีเจตนารมณ์มุ่งหมายที่จะลงโทษข้าราชการที่กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  (นร 0709.2/ป 337  ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2541

        10. การกล่าวหาเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 106  นั้น  ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลสรุปความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงหรือมติ อ.ก.พ.กระทรวง  หากข้อเท็จจริงตามหนังสือดังกล่าวมีลักษณะที่พึงเห็น
ได้ว่า  กรณีมีมูลเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  และเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาก่อนที่ข้าราชการผู้นั้นจะออกจากราชการไป  ผู้บังคับบัญชาย่อมดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการดังกล่าวได้  (นร  0709.2/ล 276  ลงวันที่  23 พฤศจิกายน  2541) 49

        11. ข้าราชการได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการก่อนที่จะมีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามมาตรา 106  ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจจึงไม่อาจแต่งตั้งคณะกรรมการ
สอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการผู้นั้นได้  (นร  0709.2/ป 152  ลงวันที่ 12  มีนาคม  2541) 50

        12. การกล่าวหาว่าข้าราชการผู้ใดมีกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอยู่ก่อนออกจากราชการ ตามนัยมาตรา 106  ไม่จำต้องเป็นการรายงานผลของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเสมอไป  เพียงแต่มีการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชา
หรือผู้มีหน้าที่สืบสวนโดยมีเนื้อความที่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  แม้ไม่ระบุชื่อผู้ถูกกล่าวหา  เพียงแต่กล่าวหาพอให้ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นใคร ก็เพียงพอที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการ
ผู้นั้นได้ 

              ส่วนการที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ  ต่อมาถูกดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 106  หากผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่ากระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ก็ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งงดโทษ  หากผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ก็ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ  ตามนัยข้อ 6 (6)  ของระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2535  (นร 0709.2/ป 241  ลงวันที่  20 พฤษภาคม  2541)


มาตรา  107

        1. ข้าราชการพลเรือนสามัญถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ย่อมไม่มีสถานภาพเป็นข้าราชการ  จึงไม่อาจสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ได้ (นร 0709.2/282  ลงวันที่  16  เมษายน  2542

        2. ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนทางวินัยในกรณีที่ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  แม้กรณีที่สอบสวนดังกล่าวจะมีการดำเนินคดีอาญาด้วย  และพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้กระทำความผิดก็ตาม  กรณีก็มิได้เป็นผลให้เหตุแห่งการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนอันเนื่องจากถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงนั้นหมดไป  หากการสอบสวนทางวินัยดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ผู้บังคับบัญชาก็ไม่อาจสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นกลับเข้ารับราชการตามเดิมได้ (นร 0709.1/242  ลงวันที่  2  ตุลาคม  2544)


มาตรา  109

        1. อ.ก.พ.กระทรวง  ได้พิจารณารายงานการลงโทษข้าราชการตามมาตรา 109 วรรคหนึ่ง  แล้วเห็นว่า  กรณีเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  และมีมติให้กรมดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการดังกล่าว  ต่อมา  อ.ก.พ.กรม  ได้มีมติให้ลงโทษไล่ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการการสั่งลงโทษครั้งหลังถือเป็นการสั่งเพิ่มโทษ  (นร 0709.2/584  ลงวันที่  25  สิงหาคม  2542) 54

        2. ผู้บังคับบัญชาสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสำนวนการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อพิจารณาพยานหลักฐานในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลเพียงพอที่จะกล่าวหาว่าข้าราชการกระทำความผิดวินัยอย่างไร  หรือไม่  ถือเป็นการดำเนินการ
ตามมาตรา 99  มิใช่การดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 102  เมื่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วเห็นควรยุติเรื่อง  จึงไม่มีกรณีต้องรายงานตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  แต่อย่างใด (นร  0709.1/ล 169  ลงวันที่  3  สิงหาคม  2544) 55

        3. เมื่ออธิบดีรายงานการดำเนินการทางวินัยไปยัง อ.ก.พ.กระทรวงตามมาตรา 109  แล้ว  การพิจารณาดำเนินการในขั้นต่อไปเป็นอำนาจหน้าที่ของ  อ.ก.พ.กระทรวง  (นร 0709.1/ล 858  ลงวันที่  28  สิงหาคม  2545

        4. การที่มาตรา 109  บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นรายงานการดำเนินการทางวินัยไปยังผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป  และให้ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปมีอำนาจเพิ่มโทษ  ลดโทษ  หรือยกโทษ  ได้  แสดงให้เห็นว่าคำสั่งลงโทษของบังคับบัญชาชั้นต้นยังไม่เด็ดขาด  การเปลี่ยนแปลงโทษดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแก้ไขคำสั่งลงโทษ  ดังนั้น  การสั่งลงโทษครั้งหลังจึงต้องสั่งให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ระบุไว้ในคำสั่งเดิม  (นร  1009.1/ล 1095  ลงวันที่  1 พฤศจิกายน 2545

        5. ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการแล้ว  จะต้องรายงานการดำเนินการทางวินัยต่อผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้นตามลำดับจนถึงอธิบดี  ตามมาตรา 109 วรรคหนึ่ง  หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดไม่ปฏิบัติ
ตามบทบัญญัติดังกล่าว  ผู้บังคับบัญชาผู้นั้นอาจมีความผิดวินัยตามมาตรา 85 วรรคหนึ่ง ได้  (นร 0709.2/642  ลงวันที่  20 พฤศจิกายน  2541

        6.  เมื่อมีคำสั่งเพิ่มโทษ  ลดโทษ งดโทษ  หรือยกโทษ  คำสั่งลงโทษเดิมเป็นอันยกเลิกตามนัยมาตรา 109 วรรคห้า  ดังนั้น  เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งเพิ่มโทษข้าราชการจากลดขั้นเงินเดือนเป็นไล่ออกจากราชการ  คำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนดังกล่าวจึงถูกยกเลิก  และเป็นผลให้ทางราชการต้องคืนเงินเดือนตามคำสั่งลงโทษ (เดิม)  ที่ให้ลดขั้นเงินเดือนไปแล้วให้แก่ข้าราชการผู้นั้นด้วย (นร 0709.2/ป 256  ลงวันที่  28  พฤษภาคม  2541)


มาตรา  112

เมื่อศาลมีคำสั่งให้ข้าราชการซึ่งหายไปเป็นคนสาปสูญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว  โดยผลของกฎหมายถือว่า  “ถึงแก่ความตาย” ซึ่งย่อมเป็นผลให้ต้องถือว่าข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการเพราะตาย (นร 0709.2/563  ลงวันที่  19  สิงหาคม 2542) 60


มาตรา  113

ข้าราชการส่งหนังสือขอลาออกจากราชการทางไปรษณีย์ (EMS) โดยขอลาออกจากราชการในวันเดียวกับที่ได้ระบุไว้ในหนังสือขอลาออก  แม้กรณีจะมิใช่เป็นการยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการล่วงหน้าก่อนวันขอลาออกตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2536  ก็ตาม  แต่เพื่อความเป็นธรรมและให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 113  ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสามารถอนุญาตให้ลาออกจากราชการได้  (นร  0709.2/533  ลงวันที่  9  สิงหาคม  2542


มาตรา  115

        1. ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52  มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการได้  หากการสอบสวนปรากฏว่าข้าราชการผู้นั้นหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติราชการ  และการให้ผู้นั้นอยู่รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหาย
แก่ราชการ  ซึ่งจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป  (นร 0709.1/279 ลงวันที่  29  พฤศจิกายน  2544)

        2. ผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 52 อาจพิจารณาดำเนินการสั่งให้ข้าราชการออกจากราชการเพราะเป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถปฏิบัติงาน  หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการตามมาตรา 114 (3)  และมาตรา  115  แล้วแต่กรณีได้  และหากผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการในกรณีดังกล่าวโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงผู้บังคับบัญชาก็ย่อมที่จะสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้  (นร 0709.1/ป 455  ลงวันที่ 23  สิงหาคม  2544)  


มาตรา  124

ทายาทของข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย  เนื่องจากการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญให้อุทธรณ์ได้เฉพาะสำหรับตนเองเท่านั้น 
จะอุทธรณ์แทนกัน หรือมอบหมายให้ผู้อื่นอุทธรณ์แทนไม่ได้  (นร  0709.1/200  ลงวันที่ 18  กันยายน  2544


มาตรา  125

เมื่อมีการรายงานการดำเนินการทางวินัยต่อ อ.ก.พ.กระทรวงตามมาตรา 109 วรรคหก  และข้าราชการผู้ถูกลงโทษทางวินัยใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามมาตรา 125 (3)  อ.ก.พ.กระทรวง  จะต้องพิจารณาอุทธรณ์ โดยนำรายงานการดำเนินการทางวินัยมาพิจารณาด้วย  (นร 0709.1/266  ลงวันที่ 27  พฤศจิกายน  2544) 65


มาตรา  129

การใช้สิทธิร้องทุกข์จะต้องปรากฏกรณีว่าถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ออกจากราชการ  หรือเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติต่อตนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  หรือมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา  ดังนั้น  การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นทำบันทึกรายงานพฤติการณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาไปถึงผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป  จึงยังไม่เข้าเหตุแห่งการร้องทุกข์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 129  และมาตรา 130  (นร 0709.1/ล 531  ลงวันที่  14 พฤศจิกายน 2544)


มาตรา  130

ผู้บังคับบัญชาสั่งงดโทษโดยให้ว่ากล่าวตักเตือนตามนัยมาตรา 103วรรคสอง  มิใช่การลงโทษทางวินัย  ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้  ส่วนการใช้สิทธิร้องทุกข์ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการใช้อำนาจในทางบริหารหรือทางวินัยก็ตาม  หากผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา  ข้าราชการผู้นั้นก็สามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ตามมาตรา 130  ได้ (นร 0709.2/377  ลงวันที่  27  สิงหาคม  2541) 67