ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.
ปี พ.ศ. ที่ออกเอกสาร: 
2558
Document type: 
ไฟล์นำเสนอ
Tags: 
HiPPS
กลุ่มที่ 2 เรื่อง “การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance)” 

 

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary)

การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) เริ่มมีการนำมาใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ และยังได้ประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการต่าง ๆ ทุกประเภทมากว่า 3 ทศวรรษ โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาให้มีความครอบคลุมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีหน่วยงานหรือองค์กรได้ให้คำนิยามที่หลากหลาย แต่โดยสรุปมีเป้าหมายเช่นเดียวกัน คือ การบริหารการดำเนินงานด้วยความถูกต้อง บนพื้นฐานคุณธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือหน่วยงานในระดับใดก็ตาม ประเทศไทยได้เริ่มเห็นความสำคัญของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีอย่างจริงจัง ตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ที่มีการเห็นพ้องต้องกันว่า สาเหตุสำคัญหนึ่งมาจากการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ขาดธรรมาภิบาล ก่อให้เกิดปัญหาที่ลุกลามจนบานปลายในที่สุด ทำให้ทุกฝ่ายในสังคมหันมาให้ความสนใจในเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องอันเกิดมาจากการขาดระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการควบคุมและตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเป็นระบบ ขาดการปลูกฝังจิตสำนึกจริยธรรม ทำให้เกิดรูรั่วไหล การกระทำผิด ฉ้อฉลและทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐนั้น พบว่ายังคงมีความซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองและปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน จำเป็นต้องมีการรื้อปรับระบบราชการให้มีความทันสมัย และสามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์
 
จากการปฏิบัติราชการ และการฝึกอบรมระยะสั้นภายใต้โครงการพัฒนาข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง (HiPPS) รุ่นที่ 11 ของสำนักงาน ก.พ. โดยความร่วมมือของสถาบันบัณฑิตเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (Korea Development Institute: KDI) ได้เรียนรู้พัฒนาการด้านการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งประสบปัญหาไม่ต่างจากประเทศไทยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่กลับสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งและพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนสามารถยกระดับประเทศในระดับที่สูงกว่าประเทศไทยได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) พบว่า เกาหลีใต้ได้ใช้เครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งในการยกระดับการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จนเกิดผลในวงกว้างคือการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government) ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนในสังคมได้อย่างดี จะเห็นได้จากการจัดอันดับขององค์การสหประชาชาติที่ให้เกาหลีใต้ได้อันดับ 1 ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ติดต่อกันถึง 6 ปี และได้เห็นความสัมพันธ์ของระดับการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
 
คณะผู้จัดทำเห็นว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาประเทศไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น และช่วยลดปัญหาต่าง ๆ หลายประการที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ได้เป็นอย่างดี
 

รายชื่อสมาชิก

1. นางสาวศรมณ   เทพแก้ว กรมประชาสัมพันธ์
2. นายสุวัฒน์   สุขไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
3. นางสาวกรกช   แก้วไพฑูรย์ กรมศุลกากร
4. นางสาวสมญชา   วินทพัตร กรมสรรพสามิต
5. นางสาวอรฉัตร   นิยมสุข กรมสรรพากร
6. นางสาวมาติกา   เติมผาติ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
7. นายอิชยา   อุดมกิจแจ่มเลิศ กรมส่งเสริมสหกรณ์
8. นางสาวสุวลักษณ์   จูสวัสดิ์ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม
9. นายภาคภูมิ   ว่องสันตติวานิช กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
10. นางสาวภาสิน   จันทรโมลี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
11. นางสาวศุภกาญจน์   ศรีเพ็ชร์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

รูปแบบการนำเข้า: 
Upload (มีไฟล์บนเครื่องของท่าน)