ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.
ปี พ.ศ. ที่ออกเอกสาร: 
2558
Document type: 
ไฟล์นำเสนอ
Tags: 
HiPPS
กลุ่มที่ 3 เรื่อง “โครงการการเพิ่มอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรอาชีวศึกษา 
(Increasing Enrollment Rate of Vocational Training)”
 

บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary)

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากมนุษย์เป็นทรัพยากรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ การยกระดับสังคมและคุณภาพชีวิต ตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา โดยการศึกษาเป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการสร้างและสะสมของทุนมนุษย์ ทั้งนี้ จากการศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐเกาหลี พบว่า รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาการศึกษา ซึ่งสามารถเห็นได้จากผลคะแนนสอบ PISA ของสาธารณรัฐเกาหลีมีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงเป็นอันดับต้นของโลก รวมทั้งค่าเฉลี่ยของจำนวนปีที่อยู่ในโรงเรียนและจำนวนนักวิจัยต่อประชากรของสาธารณรัฐเกาหลีสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษาของสาธารณรัฐเกาหลียังมีประเด็นความท้าทายที่เหมือนและแตกต่างจากกรณีของประเทศไทย อาทิ ปัญหาการลดลงของผู้เรียนสายอาชีวศึกษา จำนวนผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากสถาบันที่มีการจัดอันดับที่ต่ำกว่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีปัญหาความไม่คุ้มทุนต่อการลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งรัฐบาลเกาหลีได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยนโยบายของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง บนความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม อาทิ การเพิ่มการสนับสนุนระบบการศึกษาสายอาชีพ ผ่านโครงการรณรงค์ให้มีงานทำก่อนมีใบปริญญาสำหรับนักเรียนสายอาชีพ (Job-first, Diploma-Later) การเพิ่มครูแนะแนวและให้คำปรึกษาด้านสายอาชีพ การเพิ่มคุณภาพการศึกษาด้วยการเสริมสร้างความเป็นอิสระควบคู่กับ
ความรับผิดชอบ (Accountability) ของโรงเรียน ยกระดับคุณภาพมหาวิทยาลัยวิจัย และปรับโครงสร้างมหาวิทยาลัย
 
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและความเชี่ยวชาญในสายอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ขาดการวางแผนที่ชัดเจน ตลอดจนค่านิยมที่ไม่สนับสนุนการเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสายสามัญได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาสายอาชีวศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ โดยความแตกต่างของระดับรายได้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
 
เพื่อเสริมสร้างผลิตภาพทางการแข่งขันของไทย กลุ่มข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงรุ่น 11 กลุ่มที่ 3 เห็นว่า สาธารณรัฐเกาหลีเป็นแบบอย่างที่ดี (Good Practice) ในด้านการพัฒนาระบบการศึกษาสายอาชีพ (Vocational Training) ที่มุ่งสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สนองตอบต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง ดังนั้น จึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการเพิ่มอัตราการเข้าเรียนและคุณภาพของหลักสูตรอาชีวศึกษา (Increasing Enrollment Rate and Quality of Vocational Training) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน จูงใจเด็กและผู้ปกครองสนใจเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าศึกษาต่อในสายอาชีพและยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษาสายอาชีวศึกษาของประเทศ ด้วยการจัดให้มีโครงการนำร่องในการฝึกงานกับสถานประกอบการระหว่างเรียน อุดหนุนค่าเล่าเรียนและเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในอัตราพิเศษ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรสายอาชีพให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในคุณภาพและฝีมือ ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของโครงการ ได้แก่ ความต่อเนื่องของนโยบายและการดำเนินงานที่ชัดเจน ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยมีวิสัยทัศน์และเป้าประสงค์ร่วมกันที่จะพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีคุณภาพ และการมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนสายอาชีพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความเป็นไปได้ เกิดประโยชน์ทั้งกับผู้เรียนและตลาดแรงงาน รวมถึงมีข้อดีมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียวด้วยการเพิ่มอัตราค่าจ้างสายอาชีพซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมาหากไม่ดำเนินการด้วยความรอบคอบ
 

รายชื่อสมาชิก

1. นางสาวรวีรัตน์   ส่งสัมพันธ์ สำนักงบประมาณ
2. นายธัชไท   กีรติพงค์ไพบูลย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. นางสาวศศิธร   ตรีมรรค กรมสรรพสามิต
4. นางสาวพรดาว   ภัททกวงศ์ กรมสรรพากร
5. นางสาวสุนิดา   สุสันทัด สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
6. นางสาวสุพรรณิการ์   ปักเคธาติ กรมการข้าว
7. นายชรพล   จันทร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
8. นางสาวอรรถวรรณ   ไทโยธิน สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
9. นางสาวกุลวตี   คันธโชติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
10. นายชินภพ   กูรมะสุวรรณ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
11. นางสาวสุจิตรา   คุ้มโภคา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

รูปแบบการนำเข้า: 
Upload (มีไฟล์บนเครื่องของท่าน)