ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.
ปี พ.ศ. ที่ออกเอกสาร: 
2558
Document type: 
ไฟล์นำเสนอ
Tags: 
HiPPS
 

กลุ่มที่ 6 เรื่อง “แนวทางการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพครูอาชีวศึกษา” 

 

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary)

ปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาในสายอาชีพ หรือสายอาชีวศึกษา โดยจะเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ยุทธศาสตร์ที่ 4 ของแผนฯ ได้ระบุถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยการดำเนินการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีทักษะและการบริหารความเชี่ยวชาญในสายอาชีพและพัฒนามาตรฐานธุรกิจและวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ  เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาในการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ สอดคล้องตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ 
 
ซึ่งในปัจจุบัน ตลาดความต้องการแรงงานสายอาชีพมีความต้องการสูง แต่ที่ผ่านมามีนักเรียนเรียนต่อสายอาชีวะน้อย มีนักเรียนมาเรียนไม่มากตามเป้าหมาย และมีปัญหานักเรียนออกกลางคัน โดยมีสาเหตุมาจากนักเรียนต้องเสียค่าอุปกรณ์การเรียน ครูผู้สอนที่ยังขาดแคลน รวมถึงค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีพ การจะแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษาในระยะยาว ต้องมีการสร้างภาพลักษณ์ใหม่พร้อมกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ไขหลักสูตรและพัฒนาครูอาจารย์ในสถาบันอาชีวะศึกษา 
 
จากข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน และปัญหาด้านกำลังคนอาชีวศึกษาโดยรวมของประเทศ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในภูมิภาคอาเซียน ทำให้ทราบถึงสภาพปัจจุบันและแนวโน้มความต้องการกำลังคนอาชีวศึกษาในปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งระบบเศรษฐกิจใหม่เป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องการใช้แรงงานที่มีความรู้และทักษะสูงขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น 
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมคนให้มีความรู้ด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพอย่างเพียงพอ เหมาะสม มีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบัน และอนาคต รัฐบาลต้องมีนโยบายในการจัดการอาชีวศึกษา เช่น การจัดสรรงบประมาณ การจัดการให้มีการเชื่อมโยงกับอาชีพในตลาดแรงงาน การส่งเสริมความร่วมมือการจัดการศึกษาระหว่างภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาบุคคลากรผู้สอนในสถาบันอาชีวศึกษา  
การพัฒนาบุคลากรผู้สอนในสถาบันอาชีวศึกษาเป็นการพัฒนาในระยะยาว ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือของหลายส่วน คือ ภาครัฐบาล ภาคการศึกษา และภาคเอกชน โดยแต่ละส่วนควรมีการดำเนินการดังนี้
 
ภาครัฐบาล
  1. ควรมีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม     ซึ่งจะนำไปสู่ทิศทางการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา 
  2. กำหนดนโยบายที่มุ่งเน้นการจัดการอาชีวศึกษาอย่างชัดเจน 
  3. ปรับปรุงกระบวนการมาตรฐานการรับรองคุณวุฒิ
  4. สร้างระบบการจ้างงานและการกำหนดเงินเดือนค่าตอบแทนให้ทัดเทียมกับผู้ที่จบปริญญาตรี
  5. สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนในการสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมแก่นักศึกษาอาชีวศึกษา
  6. ติดตามและประเมินผลสถาบันอาชีวศึกษา
ภาคการศึกษา
  1. พัฒนาหลักสูตรการศึกษารวมถึงทักษะของบุคลากรผู้สอนในสถาบันอาชีวศึกษา
  2. การจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ พัฒนา เพื่อสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบอาชีวศึกษา
  3. การให้ทุนการศึกษา เพื่อการศึกษาต่อและการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรผู้สอนในสถาบัน อาชีวศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสอน
ภาคเอกชน
  1. ให้มีการนำผู้เชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้าสู่ระบบการอาชีวศึกษา โดยสนับสนุนให้มี โอกาสให้ความรู้ และฝึกฝนนักศึกษาและบุคลากรผู้สอนในสถาบันอาชีวศึกษา
  2. ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรให้มีความเหมาะสม
  3. พัฒนาระบบค่าตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ
  4. สนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาและฝึกอบรมตลอดชีวิต 
 
จากการดำเนินการดังกล่าว อาจเป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐบาล
ในการกำหนดนโยบาย รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ตลอดจนการกำหนดมาตรการ กฎหมาย ให้เอื้อและจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและฝึกอบรม ซึ่งจะนำไปสู่
การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งระดับประเทศและภูมิภาคต่อไป
 

รายชื่อสมาชิก

1. นางสาวสุปรียา   กลิ่นสุวรรณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
2. นายทศพร   นิลสิน กรมสรรพสามิต
3. นางสาวอาริยา   ภู่วัฒนกุล กรมสรรพสามิต
4. นางสาวปรียานุช   ศรีใย กรมสรรพากร
5. นางสาวสุจิตรา   นำทอง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
6. นายรวีกิติ์   พุฒิธนกร กรมการขนส่งทางบก
7. นางผการัตน์   เพ็งสวัสดิ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
8. นางสาวสิริภัทร   สุมนาพันธุ์ กรมธุรกิจพลังงาน
9. นางสาวเอกกมล   ลวดลาย กรมราชทัณฑ์
10. นายธันวา   วงศ์เสงี่ยม กรมศิลปากร
11. นางสาวอาภา    เนตรประไพ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
 
 

 

รูปแบบการนำเข้า: 
Upload (มีไฟล์บนเครื่องของท่าน)