Accessibility Tools

สำนักงาน ก.พ. (OCSC)

ocsc-nav-logo

ติดต่อเรา

Search
Close this search box.
เกี่ยวกับเรา

ก.พ.

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

               คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. คือ คณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2471 โดยมีชื่อเรียกในขณะนั้นว่า “ก.ร.พ.” หรือ “คณะกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน” เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการจัดสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการพลเรือน และจัดการศึกษาให้นักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปศึกษายังต่างประเทศ 

               ต่อมาได้เปลี่ยนจากชื่อจาก ก.ร.พ. เป็น ก.พ. ทำหน้าที่ดูแลให้การดำเนินการด้านบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนนับตั้งแต่การกำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนการสอบเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการการแต่งตั้งโยกย้ายการเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไปจนถึงการดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

               บทบาทของ ก.พ. จึงมีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม ด้วยการพิจารณา  และดำเนินการเพื่อให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งข้าราชการที่ดีมีความรู้ ความสามารถสูง ให้ได้คนที่เหมาะสมกับงาน และโดยประหยัดรวมถึงการรักษาขวัญและส่งเสริมกำลังใจ ในการทำงานของข้าราชการเป็นส่วนรวม ถือเป็นการเตรียมกำลังคนภาครัฐให้มีความพร้อมและสามารถผลักดันนโยบายของรัฐให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าประสงค์ อันจะช่วยให้ประเทศชาติก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

              พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 6 กำหนดให้มีคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง

               จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน กฎ ก.พ. จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเจ็ดคน และให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ  

               ทั้งนี้ กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง และไม่ได้เป็น กรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว และมาตรา 7 กำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละสามปี

ประวัติ ก.พ.

               ระบบข้าราชการพลเรือนไทย ในปัจจุบันวัฒนาการมาจากระบบข้าราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งก่อน พ.ศ. 2472 ยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับราชการ และไม่มีระเบียบข้าราชการพลเรือนส่วนกลางให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันจนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตรับสั่งในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงเห็นควรมีกรรมการสอบคัดเลือกคนเข้ารับราชการ และทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระดำรงราชานุภาพคิดวางระเบียบในเรื่องนี้ 

 

               เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียบเรียงระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก็เป็นเวลาใกล้เคียงกันกับที่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการลงโทษข้าราชการพลเรือน ซึ่งนายอาร์.กี ยอง ที่ปรึกษาร่างกฎหมายชาวต่างประเทศ เป็นผู้ร่างถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งร่างกฎหมายให้อภิรัฐมนตรี และเสนาบดีต่างๆ พิจารณาให้ความเห็นหลังจากอภิรัฐมนตรี และเสนาบดีต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นพร้อมทั้งมีคำวิจารณ์ของที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้น โดยมีพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นนายกกรรมการ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีวัต เจ้าพระยาพิชัยญาติ และพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ เป็นกรรมการ และนายประดิษฐสุขุม ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ 

 

               คณะกรรมการชุดนี้ได้พิจารณาปรับปรุงร่างระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้น แล้วนำทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องนี้ในเสนาบดีสภาแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการกลางสำหรับรักษาระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้น เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 เพื่อดำเนินการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน จัดการสอบเพื่อเลือกสรรผู้สมัครเข้ารับราชการพลเรือน และจัดการศึกษาของนักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนที่ส่งไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ 

 

               กรรมการนี้ได้พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ร่างกฎข้อบังคับ และหลักสูตรการสอบวิชาข้าราชการพลเรือน เสร็จแล้วจึงนำทูลเกล้าฯ ถวาย หลังจากได้มีการพิจารณาแก้ไขในที่ประชุมเสนาบดีหลายครั้ง ก็ทรงประกาศ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 เป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2471 ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2472 โดยมีกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนซึ่งเรียกกันโดยย่อว่า “ก.ร.พ.” เป็นผู้รักษา และดำเนินตามพระราชบัญญัตินี้ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบข้าราชการพลเรือน ให้เข้ารูปตามระบอบการปกครองใหม่ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2477 ซึ่งเป็นวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “ก.พ.” จึงเกิดขึ้นแทนกรรมการรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือ “ก.ร.พ.” 

 

               คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. ตามรูปใหม่นี้ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 5 ราย แต่ไม่เกิน 7 ราย ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร กับให้รัฐมนตรีว่าการแห่งกระทรวงที่มีเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาของ ก.พ. มานั่งประชุมเป็นกรรมการด้วย ตั้งแต่เริ่มใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา ก.พ. ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 

 

               ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และเปลี่ยน องค์ประกอบของ ก.พ. ใหม่ โดยมิได้กำหนดให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ก.พ. โดยตำแหน่งทั้งนี้โดยมีเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 มีหลักการให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ดังนั้น ก.พ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการประจำ จึงไม่ควรประกอบด้วยข้าราชการการเมือง จะมีข้อยกเว้นก็เพียงแต่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายกำหนดนโยบาย (คณะรัฐมนตรี) และฝ่ายที่รับนโยบายไปปฏิบัติ

 

               อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 คงแบ่งข้าราชการพลเรือนออกเป็น 2 ประเภท คือ กรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งได้แก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธาน ก.พ. และเลขาธิการ ก.พ. กับอีกส่วนหนึ่งคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 

 

               สำหรับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นคงมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ราย แต่ไม่เกิน 7 รายเช่นเดิม พระราชบัญญัติฉบับนี้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเป็นให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลักราชการ ซึ่งรับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดี (แต่เดิมกำหนดให้เป็นตำแหน่งอธิบดี หรือเทียบเท่า) ทั้งนี้ เพื่อให้มีการ คัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น 

 

               ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2520 เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของ ก.พ. เป็นให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ราย แต่ไม่เกิน 9 ราย และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของกรรมการเป็นให้ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากผู้ซึ่งรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า 

 

               การให้มีจำนวนกรรมการ ก.พ. เพิ่มขึ้น และให้ข้าราชการพลเรือนผู้ซึ่งรับราชการอยู่หรือเคยรับราชการเข้าร่วมเป็นกรรมการ ก.พ. ด้วยไม่น้อยกว่า 7 รายนั้น เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่า กรรมการผู้เป็นข้าราชการพลเรือนย่อมรู้สภาพ และความต้องการ หรือประโยชน์ของข้าราชการพลเรือนเป็นอย่างดี การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ โดย ก.พ. จึงดำเนินไปโดยเหมาะแก่สภาพข้าราชการพลเรือน และเป็นประโยชน์แก่ข้าราชการพลเรือนตามสมควร 

 

               พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ได้มีการแก้ไขปรับปรุงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2522 ซึ่งได้แก้ไของค์ประกอบของ ก.พ. อีกครั้ง โดยให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.” ประกอบด้วยรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานและกรรมการ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในหลักราชการหรือเคยรับราชการ ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือตำแหน่งที่เทียบเท่ามาแล้วและมิได้เป็นข้าราชการการเมือง สมาชิกรัฐสภา กรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง จำนวนไม่น้อยกว่าสิบสองคน แต่ไม่เกินสิบห้าคน โดยต้องเป็นข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการอยู่ไม่น้อยกว่าเจ็ดคนและให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย” 

 

               ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2535 ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกครั้งหนึ่ง โดยตราเป็นพระราชบัญญัติระเบียบข้าราขการพลเรือน พ.ศ. 2535 และปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของ ก.พ. ใหม่ ให้ประกอบด้วยกรรมการ 3 ประเภท คือ กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน โดยมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการ 

               กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและด้านการจัดการ และด้านกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 7 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ที่มีคุณสมบัติและตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 

               กรรมการผู้แทนข้าราชการพลเรือน ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงรองปลัดกระทรวง อธิบดี หรือเทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับเลือกจากผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวน 5 คน 

 

               ต่อมาใน พ.ศ. 2548 ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนอีกครั้ง โดยปรับเปลี่ยนบทบาทของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จากเดิมที่เป็นทั้งผู้จัดการทรัพยากรบุคคลของฝ่ายบริหาร ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม และผู้จัดโครงสร้างส่วนราชการ ปรับให้เป็นผู้รับผิดชอบยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคลของรัฐบาล และมอบบทบาทในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมให้แก่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ส่วนบทบาทในการเป็นผู้จัดโครงสร้างส่วนราชการได้ตัดโอนไปเป็นของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ก่อนหน้านี้แล้วเมื่อครั้งการปฏิรูประบบราชการ พ.ศ.2545 องค์ประกอบของ ก.พ. จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกวาระหนึ่งในปี พ.ศ. 2548 จากเดิมที่ ก.พ. ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการ ให้เปลี่ยนเป็น ก.พ. ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้นไม่นับรวมกรรมการผู้แทนข้าราชการเนื่องจากงานในส่วนของการพิจารณานั้น ได้ถ่ายโอนให้เป็นอำนาจของส่วนราชการแล้ว โดยมีเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

               และล่าสุด พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 6 ได้กำหนดให้คณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง

 

               จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้ว และเป็นผู้ที่ได้รับการสรรหา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน กฎ ก.พ. จำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน แต่ไม่เกินเจ็ดคน และให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

               ทั้งนี้กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง และไม่ได้เป็น กรรมการโดยตำแหน่งอยู่แล้ว และมาตรา 7 กำหนดให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละสามปี 

รายชื่อคณะกรรมการ ก.พ.

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้ 

กรรมการโดยตำแหน่ง

       1. นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
           (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร)

ประธาน ก.พ.

       2. ปลัดกระทรวงการคลัง
           (นายนายลวรณ แสงสนิท)

กรรมการ

       3. ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
           (นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร)

กรรมการ

       4. เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
           (นายดนุชา พิชยนันท์)

กรรมการ

       5. เลขาธิการ ก.พ.
           (นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์)

กรรมการและเลขานุการ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

     6. คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์

กรรมการ

     7. นายนนทิกร กาญจนะจิตรา

กรรมการ

     8. นายพานิช เหล่าศิริรัตน์

กรรมการ

     9. นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ

กรรมการ

   10. นายเอกพล ณ สงขลา

กรรมการ

   11. นายนพดล เฮงเจริญ

กรรมการ

   12. นายปกรณ์ นิลประพันธ์

กรรมการ

อำนาจหน้าที่ของ ก.พ.

       พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 มาตรา 8 ก.พ. ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

 

  1. เสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในด้านมาตรฐานค่าตอบแทน การบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล รวมตลอดทั้งการวางแผนกำลังคนและด้านอื่น ๆ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ 
  2. รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาปรับปรุงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มค่าครองชีพ สวัสดิการ หรือประโยชน์เกื้อกูลอื่นสำหรับข้าราชการฝ่ายพลเรือน ให้เหมาะสม 
  3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือน เพื่อส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ 
  4. ให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลังของส่วนราชการ 
  5. ออกกฎ ก.พ. และระเบียบเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งการให้คำแนะนำหรือวางแนวทางในการปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ. เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ 
  6. ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ รวมตลอดทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่เป็นปัญหา มติของ ก.พ. ตามข้อนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย 
  7. กำกับ ดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนในกระทรวงและกรม เพื่อรักษาความเป็นธรรมและมาตรฐานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมทั้งตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้ให้มีอำนาจเรียกเอกสารและหลักฐานจากส่วนราชการ หรือให้ผู้แทนส่วนราชการ ข้าราชการ หรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริง และให้มีอำนาจออกระเบียบให้กระทรวง และกรมรายงานเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ไปยัง ก.พ 
  8. กำหนดนโยบายและออกระเบียบเกี่ยวกับทุนเล่าเรียนหลวงและทุนของรัฐบาลให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตลอดจนจัดสรรผู้รับทุนที่สำเร็จการศึกษาแล้วเข้ารับราชการในกระทรวงและกรมหรือหน่วยงานของรัฐ 
  9. ออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดการการศึกษาและควบคุมดูแล และการให้ความช่วยเหลือบุคลากรภาครัฐ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง นักเรียนทุนของรัฐบาล และนักเรียนทุนส่วนตัวที่อยู่ในความดูแลของ ก.พ. ตลอดจนการเก็บเงินชดเชยค่าใช้จ่าย ในการดูแลจัดการการศึกษา ทั้งนี้ ให้ถือว่าเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการการศึกษา เป็นเงินรายรับของส่วนราชการที่เป็นสถานอำนวยบริการอันเป็นสาธารณประโยชน์ ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ 
  10. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อรับรองคุณวุฒิของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือคุณวุฒิอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ในการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการพลเรือน และการกำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทน รวมทั้งระดับตำแหน่งและประเภทตำแหน่งสำหรับคุณวุฒิดังกล่าว 
  11. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ 
  12. พิจารณาจัดระบบทะเบียนประวัติและแก้ไขทะเบียนประวัติเกี่ยวกับ วัน เดือน ปีเกิด และการควบคุมเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือน 
  13. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น  


        การออกกฎ ก.พ. ตาม (
5) ในกรณีที่เห็นสมควรให้สำนักงาน ก.พ. หารือกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ก.พ. ด้วย 

 

ท่านคิดว่าข้อมูลหน้าเว็บไซต์นี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ใช่ ไม่
ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของท่าน
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเว็บไซต์ของเรา ด้วยการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม
Skip to content