แนะนำการสอบ ภาค ก
เส้นทางเข้าสู่ราชการ และวิธีการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ
อาชีพ “รับราชการ” เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก เพราะระบบราชการเป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลให้บังเกิดผล นำพาประเทศชาติและสังคมไปสู่ความเจริญและสงบสุข สามารถยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย
หลักการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ
ดำเนินการโดยยึดหลัก ดังนี้
- ความเป็นธรรมและความเสมอภาคในโอกาสแก่บุคคลผู้มีคุณสมบัติอย่างเท่าเทียมกัน
- ความได้มาตรฐานด้านเทคนิคและวิธีการเพื่อให้ได้บุคคลที่เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะเหมาะสมกับตำแหน่ง
- ความสะดวก รวดเร็ว และประหยัด
- บุคคลมีโอกาสเลือกงาน และหน่วยงานมีโอกาสเลือกบุคคล
คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับราชการ
โดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน นอกจากจะมีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งด้วย
วิธีการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการ
การสรรหาบุคคลเข้ารับราชการเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในตำแหน่งระดับบรรจุนั้น อาจดำเนินการด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- การสอบแข่งขัน ซึ่งอาจรับสมัครจากบุคคลทั่วไป หรือรับสมัครเฉพาะผู้ผ่านการกลั่นกรองเบื้องต้นแล้ว
- การคัดเลือกบรรจุ ดำเนินการในกรณีที่มีเหตุพิเศษที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการสอบแข่งขัน เช่น กรณีคุณวุฒิที่หาผู้สำเร็จการศึกษาได้ยาก หรือ ได้รับทุนรัฐบาล เป็นต้น
วิธีการดำเนินการสรรหาที่กล่าวถึงนั้น ก.พ. อาจเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือมอบหมายให้ส่วนราชการใดเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้
หน่วยงานดำเนินการ
สำนักงาน ก.พ.
- จะดำเนินการสอบเพื่อความรู้ความสามารถทั่วไป (หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ภาค ก.”) ผู้ที่ได้รับวุฒิระดับ ต่ำกว่าปริญญาตรี วุฒิปริญญาตรี และวุฒิปริญญาโท ทุกสาขา (ยกเว้น สาขาวิชาที่ ก.พ. กำหนดให้เข้ารับราชการโดยคัดเลือกบรรจุ) โดยจะประกาศรายละเอียดการรับสมัครให้ทราบทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ที่ https://job.ocsc.go.th ต่อไป
- สำหรับวุฒิปริญญาเอก และวุฒิอื่น ๆ ที่ ก.พ. กำหนดให้เป็นวุฒิคัดเลือก เช่น แพทย์ เภสัช ฯลฯ นั้น สามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครงานจากส่วนราชการต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. https://job.ocsc.go.th หรือ เว็บไซต์ของส่วนราชการนั้น ๆ
ส่วนราชการ
- เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ภาค ข”) และการสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง (หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ภาค ค.”) เมื่อมีตำแหน่งว่าง
- เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ จากผู้ได้รับปริญญาเอก และวุฒิอื่น ๆ ที่ ก.พ. กำหนดเป็นวุฒิคัดเลือก โดยส่วนราชการจะประกาศรับสมัครทั่วไป และประกาศในเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งระบบจะส่ง e-mail ให้แก่บุคคลที่สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ https://job.ocsc.go.th
การสอบภาค ก. รับสมัครสอบวุฒิอะไร?
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน
- ระดับปริญญาตรี หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน
- ระดับปริญญาโท หรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกัน
หลักสูตรการสอบภาค ก.
- วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คะแนนเต็ม 100 คะแนน
- วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเต็ม 50 คะแนน
- วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี คะแนนเต็ม 50 คะแนน
วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี เป็นการทดสอบความรู้ที่เป็นพื้นฐานของการเป็นข้าราชการที่ดี จะมีเนื้อหาครอบคลุม ได้แก่
- ระเบียบบริหาราชการแผ่นดิน
- หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
- วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
- หน้าที่และความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
- เจตคติและจริยธรรมสำหรับข้าราชการ
เกณฑ์การสอบผ่าน
- วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์
- ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี และปริญญาตรี ต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
- สำหรับระดับปริญญาโท ต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65
- วิชาภาษาอังกฤษ ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50
- วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60
ปฏิทินการสอบภาค ก
พิมพ์บัตรประจำตัวสอบ การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป
ประกาศกำหนดวัน เวลา สถานที่สอบ และระเบียบเกี่ยวกับการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2567 ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2567
ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2567 ภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567