ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.
ปี พ.ศ. ที่ออกเอกสาร: 
2558
Document type: 
ไฟล์นำเสนอ
Tags: 
HiPPS
กลุ่มที่ 4 เรื่อง “นโยบายนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย
(Science and Technology Innovation Policy)”

 

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary)

สาธารณรัฐเกาหลี หรือ เกาหลีใต้ เผชิญวิกฤตการณ์มาอย่างยาวนาน หลังสิ้นสุดสงครามในปี 2496 เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ต่อมาในปี 2505 รัฐบาลประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 เปลี่ยนประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม พัฒนาอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ เริ่มลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลา 50 ปี เกาหลีใต้มีการปรับตัวจากประเทศที่เลียนแบบเทคโนโลยีผู้อื่น มาเป็นผู้สร้างนวัตกรรม และปัจจุบันเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำนวัตกรรมของโลก ทำให้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พบว่า ประเทศขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานขาดการพัฒนา รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เพื่อปรับปรุงและจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ สร้างมาตรการส่งเสริมงานวิจัย และพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
 
ดังนั้นจากการฝึกอบรม ดูงาน หลักสูตรการเสริมสร้างคุณลักษณะส่วนบุคคลและทักษะการทำงานสำหรับข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูงประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จึงมีข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยะสั้นและระยะยาวใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานภาครัฐผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) กำหนดนโยบาย “ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” และเพิ่มบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งต้องได้รับความสนับสนุนจากทุกภาคส่วน สร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยผู้สนับสนุนหลัก คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย จะต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ เงินทุนสำหรับดำเนินการ โครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ บุคลากรที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และนโยบายสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต
 
การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมีความท้าทายหลายด้าน เช่น นโยบายการพัฒนาไม่ต่อเนื่อง การขาดแคลนงบประมาณ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ดังนั้นประเทศไทยต้องมีการกำหนดนโยบายระยะสั้น ระยะยาวที่ชัดเจน มีกรอบระยะเวลาที่สามารถปฏิบัติ ติดตาม และประเมินผลได้ กำหนดหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือจาก 3 กลุ่มหลัก คือ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะให้บุคลากร สร้างอาชีพที่มั่นคงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้จะต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความรอบรู้ และทันต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถสร้างความศรัทธาและความไว้วางใจจากทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และประเทศชาติก็จะมีความเจริญก้าวหน้าในที่สุด
 

รายชื่อสมาชิก

1. นางวัชรวีร์   นิ่มเป๋า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
2. นายทัศวัตร์   ธันวานนท์ กรมธนารักษ์
3. นางสาวธิติกานต์   องอาจวาณิชย์ กรมสรรพสามิต
4. นางสาวณิชาภัทร   นาวาประดิษฐ์ กรมสรรพากร
5. นางสาวพันธุ์นิวิธ   วิทยพันธุ์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
6. นายอัครพล   ฮวบเจริญ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
7. นางสาวหฤทัย   พัฒนพิสุทธิชัย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
8. นางสาวทวีทรัพย์   ศรีขวัญ สำนักงานสถิติแห่งชาติ
9. นางสาวสินีนาฎ   มะปรางทอง สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
10. นายเทพรัตน์   วงศ์เจริญวนกิจ สำนักงานประกันสังคม
11. นางสาววชิราภา   เขียวรอด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
 
 
รูปแบบการนำเข้า: 
Upload (มีไฟล์บนเครื่องของท่าน)