ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

Secondment

สรุปภาพรวม
          การพัฒนาข้าราชการพลเรือนโดยให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงาน อื่น(Secondment) จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะพัฒนาข้าราชการให้เป็น Knowledge Worker คือ การทำงานโดยใช้ความรู้ ความสามารถและศักยภาพ พร้อมทั้งพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มพูนความรู้และความสามารถของตนเองอย่างสม่ำ เสมอ ซึ่งการเข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรอื่น ๆ ระยะหนึ่ง จะทำให้ข้าราชการได้พัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ อันจะทำให้กำลังคนภาครัฐเกิดความเป็นพลวัตรทางความคิด
 
Secondment กับภาคราชการ
 
SECONDMENT ในระบบราชการไทย : อีกหนึ่งทางเลือกของการพัฒนาข้าราชการ
“SECONDMENT” คือ การให้บุคลากรของหน่วยงานได้มีโอกาสเปลี่ยนจากการปฏิบัติงานที่ทำอยู่ประจำไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นเป็นการชั่วคราว ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานและภายนอกหน่วยงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้บุคลากรได้มีโอกาสเรียนรู้งานใหม่ๆเพิ่มขึ้น และพัฒนาความก้าวหน้าในสายอาชีพของตน
รูปแบบการให้บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นเป็นการชั่วคราว ในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี มีกรอบแนวคิดคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ มีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้พัฒนาทางก้าวหน้าในสายอาชีพ พัฒนาศักยภาพ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของหน่วยงาน รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความเข้าใจระหว่างหน่วยงาน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะเป็นหน่วยงานกลาง หรือหน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้เอง เปิดโอกาสให้บุคลากรของหน่วยงานไปปฏิบัติงานได้ทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่อาวุโส และเจ้าหน้าที่ในระดับอื่น โดยมีรูปแบบที่หลากหลายและยืดหยุ่น เช่นการทำงานแบบเต็มเวลา หรือไม่เต็มเวลา ทั้งนี้จะต้องมีการจัดทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานและบุคลากรที่ไปปฏิบัติงาน เช่น ระยะเวลาการปฏิบัติงาน เงินเดือนและผลประโยชน์อื่น ทักษะ และประสบการณ์ที่ต้องการ เป็นต้น
 
SECONDMENT ในระบบราชการไทย
 
แนวคิดการบริหารทรัพยากรบุคคลในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับบุคลากรในหน่วยงานโดยถือว่าคนเป็นต้นทุนในการบริหารงานที่สำคัญประการหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่หน่วยงาน และยังเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนหน่วยงานให้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุด จึงแสวงหารูปแบบและวิธีการในการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่ง“SECONDMENT”เป็นวิธีการหนึ่งในรูปแบบการพัฒนาข้าราชการเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงาน ก.พ. ได้เริ่มศึกษาและนำแนวคิดของต่างประเทศมาพัฒนาเพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยได้ออกเป็นระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพัฒนาข้าราชการโดยการให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๙ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการสามารถไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่นซึ่งรวมทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ต่อมาเมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ สำนักงาน ก.พ. จึงได้ปรับปรุงระเบียบดังกล่าวให้มีสาระสอดคล้องกับพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยออกเป็นระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการโดยการให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๔เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
๑. วัตถุประสงค์
เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของข้าราชการ ให้มีความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
๒. ประเภทของหน่วยงานที่จะให้ข้าราชการไปปฏิบัติ ต้องเป็นหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ได้แก่
๒.๑ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ
๒.๒ องค์การระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
๒.๓ หน่วยงานภาคเอกชนที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและได้รับการจัดให้มีดัชนีราคาในตลาดหลักทรัพย์ขนาดใหญ่สุดหนึ่งร้อยอันดับแรก หรือได้รับการจัดอันดับว่ามีธรรมาภิบาลในระดับดีมาก หรือดีเลิศ
๒.๔ หน่วยงานภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรและมีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภารกิจของส่วนราชการต้นสังกัด ตามที่ อ.ก.พ. กรมให้ความเห็นชอบ
๒.๕ การไปปฏิบัติงานในประเทศกับบุคคลซึ่งหัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดเห็นว่ามีองค์ความรู้ในเชิงลึกที่เป็นประโยชน์กับภารกิจของส่วนราชการ และเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ หรือได้รับรางวัลดีเด่นระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ
๓. คุณสมบัติของข้าราชการ
๓.๑ ข้าราชการพลเรือนสามัญทุกประเภทตำแหน่งซึ่งมีอายุไม่เกินสี่สิบปีบริบูรณ์
๓.๒ รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
๓.๓ มีสมรรถนะสอดคล้องกับลักษณะงานที่จะไปปฏิบัติ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา มีความสามารถสูง กระตือรือร้น เรียนรู้ได้เร็วในสภาพแวดล้อมใหม่ มีความประพฤติดีและตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการ เป็นต้น
๔. ระยะเวลาการปฏิบัติงาน
ไม่เกิน ๑ ปีในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอาจขยายได้อีกไม่เกิน ๑ ปี
๕. แนวปฏิบัติ
การสั่งให้ข้าราชการไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานอื่นตามระเบียบนี้ แม้จะมีลักษณะเป็นการพัฒนาแต่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพราะต้องเป็นความประสงค์ร่วมกันระหว่างส่วนราชการต้นสังกัดและข้าราชการ โดยยึดประโยชน์ของทางราชการเป็นหลักขณะเดียวกันข้าราชการก็จะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์เพิ่มขึ้นด้วย ข้าราชการยังคงได้รับเงินเดือนจากส่วนราชการต้นสังกัด ค่าตอบแทน สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์อื่นจากทางราชการตามกฎหมาย หรือระเบียบว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ตลอดจนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและประโยชน์อื่นจากหน่วยงานอื่นที่ไปปฏิบัติงานตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน และยังคงได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าระเบียบนี้สนับสนุนให้ส่วนราชการที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลส่งข้าราชการผู้มีความรู้ความสามารถได้มีโอกาสไปพัฒนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานภายนอกได้อย่างคล่องตัว แม้ปัจจุบันส่วนราชการต่างๆมีภาระงานค่อนข้างมากการที่จะส่งข้าราชการไปปฏิบัติงานตามระเบียบนี้อาจจะขาดผู้ปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมีส่วนราชการต่างๆส่งข้าราชการไปปฏิบัติงานตามระเบียบนี้แล้วจำนวน ๓ ราย ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังส่งข้าราชการจำนวน ๒ รายไปปฏิบัติงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ กรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ส่งข้าราชการจำนวน ๒ รายไปปฏิบัติงานที่บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งทั้ง ๒ ส่วนราชการได้ให้ความเห็นว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้ไปเรียนรู้งานจากภายนอกและได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำความรู้กลับมาพัฒนางานในความรับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
หากส่วนราชการหรือข้าราชการท่านใดต้องการไปปฏิบัติงานภายนอกหน่วยงานตามระเบียบนี้ก็สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงาน ก.พ.
 
 
กรณีศึกษารูปแบบในต่างประเทศ
รูปแบบการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Secondment) ของประเทศต่าง ๆ เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์ เกาหลี แคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น พบว่า ทุกประเทศมีลักษณะเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน คือ มุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้บุคลากรพัฒนาศักยภาพและมีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความเข้าใจระหว่างองค์กร โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบอาจจะเป็นหน่วยงานกลางหรือหน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่งดำเนินการเอง รูปแบบการแลกเปลี่ยนมีความหลากหลายและยืดหยุ่น เช่น การทำงานแบบเต็มเวลา การเข้าไปศึกษาโครงการระยะสั้น ฯลฯ ซึ่งจะต้องจัดทำข้อตกลงระหว่างหน่วยงานและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับระยะเวลาการแลกเปลี่ยนเงินเดือน และผลประโยชน์อื่น ๆ รวมทั้งทักษะ ประสบการณ์ที่ต้องการ ฯลฯ
 

เอกสารประกอบข่าว: 
ประเภทข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ