ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

วีซ่าระยะยาวและบัตรพำนักของ นศ. ในประเทศฝรั่งเศส

วีซ่าระยะยาวสำหรับนักศึกษาและบัตรพำนักในฐานะนักศึกษาในประเทศฝรั่งเศส

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมา ผู้ที่ได้รับวีซ่าที่ประทับคำว่า “นักศึกษา” (étudiants) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นเรื่องขอบัตรพำนักในช่วงปีแรกที่เดินทางเข้ามาศึกษาในประเทศฝรั่งเศส โดยวีซ่าชนิดนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Visa de long séjour dispensant de titre de séjour (VLSTS)

ในการยื่นเรื่องขอวีซ่านักศึกษา จะต้องแนบแบบฟอร์มหนังสือรับรองเรียกว่า Demande d’attestation OFII (OFII เป็นชื่อย่อขององค์กรมีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า Office Français de L’immigration et de l’Intégration) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็ปไซต์ http://www.ofii.fr/ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในไทย จะประทับตราของสถานทูตฯ ไว้เป็นหลักฐาน

การยื่นขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในไทย ดำเนินการดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลระเบียบการขอวีซ่าจากเว็ปไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ www.diplomatie.gouv.fr/venir/visa/index.html และขอนัดยื่นเรื่องได้ที่ http://www.tlscontact.com/th2fr/login.php ศึกษาข้อมูลและนัดหมายยื่นขอวีซ่าก่อนหน้าจะเดินทางอย่างน้อย 3 เดือน

2. ดาวน์โหลดแบบฟอร์มสำหรับวีซ่าระยะยาว (formulaire de long séjour) กรอกแบบฟอร์มและลงชื่อให้เรียบร้อยก่อนยื่นเรื่อง ในการกรอกแบบฟอร์มอย่าลืมใส่ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ของตนเอง รวมทั้งชื่อและที่อยู่ของบุคคลที่จะติดต่อได้ที่ประเทศฝรั่งเศส

3. อ่านคำอธิบาย (Notice d’information) ให้ละเอียดถี่ถ้วน ในคำอธิบายดังกล่าวจะระบุรายการเอกสารที่ต้องใช้ เช่นหลักฐานการสมัครเรียนและที่พัก หลักฐานการเงิน และอื่นๆ ตามที่ระบุ ผู้ยื่นขอวีซ่าต้องเรียงเอกสารต่างๆ ตามลำดับที่ปรากฎ

4. เอกสารที่ต้องใช้ต้องเป็นเอกสารฉบับจริงพร้อมแนบสำเนา 1 ชุด ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสจะเก็บสำเนาไว้ และคืนเอกสารฉบับจริงให้เมื่อได้รับวีซ่าแล้ว *** ถ้ามีปัญหาในการนัดหมายล่วงหน้าแจ้งสถานทูตฝรั่งเศสโดยตรงที่ [email protected]

ข้อควรระวัง

• ถ้าเอกสารการยื่นเรื่องไม่ครบตามที่ระบุ หรือไม่มีสำเนา หรือรูปถ่ายไม่ตรงตามที่กำหนดในคำอธิบาย อาจเป็นเหตุผลให้สถานเอกอัครราชทูตไม่อนุมัติออกวีซ่าให้ ในกรณีที่วีซ่าถูกปฏิเสธสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสจะไม่คืนค่าธรรมเนียมให้ (วีซ่านักเรียนราคา 99 ยูโร : ข้อมูลปี 2010)

• ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องแนบใบยินยอมจากผู้ปกครอง โดยมีลายมือชื่อและวันที่ออกใบยินยอมอย่างชัดเจน

• สถานเอกอัครราชทูตสงวนสิทธิในการให้เหตุผลในกรณีที่ไม่อนุมัติวีซ่าให้ แต่ผู้ยื่นขอมีสิทธิกระทำได้โดย * ส่งคำร้องเรียนไปทางไปรษณีย์ ในกรณีที่ไม่ได้รับคำตอบภายใน 2 เดือนให้ถือว่า สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสยืนยันการไม่อนุมัติวีซ่าให้ หรือ ยื่นเรื่องขอวีซ่าใหม่

• ที่เดินทางเข้าประเทศฝรั่งเศสด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ไม่สามารถจะขอเปลี่ยนเป็นวีซ่านักเรียนได้ ไม่ว่า ในกรณีใดๆ

ข้อแนะนำเอกสารที่ต้องนำติดตัวไปในการเดินทางไปศึกษาที่ฝรั่งเศส

* หนังสือเดินทางและวีซ่านักเรียน * ประกาศนียบัตร ม.6 และ/หรือปริญญาบัตร พร้อมคำแปล ระเบียน/ใบคะแนน ซึ่ง แจกแจงรายวิชาที่ศึกษา ทั้งของระดับมัธยมปลาย (ม.4 – ม.6) และของ มหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษา พร้อมคำแปล * เอกสารการตอบรับให้เข้าศึกษาในสถาบันของฝรั่งเศส * หนังสือรับรองทุนในกรณีที่รับทุนของไทย * สูติบัตร

ข้อควรคำนึง

เอกสารต่างๆ ที่กล่าวถึง ควรได้รับการแปลและรับรองโดยหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับในฝรั่งเศส เช่น Alliance Française และควรแปลมาจากประเทศไทยก่อนเดินทาง

***********************************************

ขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อเดินทางถึงฝรั่งเศสโดยวีซ่านักเรียนชนิดใหม่ (Visa long séjour valant titre de séjour)

1. นำส่งแบบฟอร์มการขอหนังสือรับรองจาก OFII (ซึ่งได้รับการประทับตราจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งในนั้นจะมีข้อมูลเกี่ยวกับหมายเลขวีซ่าที่ได้รับ วันที่เดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส และที่อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส) ไปยังหน่วยงาน OFII ในเขตที่พำนักในฝรั่งเศส โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแบบตอบกลับ (Lettre recommandée avec avis de réception) ซึ่งหาได้จากที่ทำการไปรษณีย์

2. แนบสำเนาพาสปอร์ตหน้าที่มีข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง และหน้าที่มีประทับตราวันที่เดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส

3. เมื่อหน่วยงาน OFII ได้รับเอกสารทั้งหมดแล้ว จะลงทะเบียนหมายเลขไว้เป็นหลักฐาน และจะส่งหลักฐานการรับเอกสาร (Attestation de dépôt de dossier) และหนังสือเรียกตัวไปตรวจร่างกาย (Convocation pour la visite médicale) มาทางไปรษณีย์ธรรมดา

4. ในหนังสือเรียกตัวไปตรวจร่างกายจะมีเอกสารมีชื่อว่า Lettre timbre สำหรับให้ติดอากรแสตมป์ จำนวน 55 ยูโร ซึ่งหาซื้อได้ในร้านขายบุหรี่ (Bureaux de tabac) หรือหน่วยงานภาษี (Centres des impôts)

5. ในวันที่ต้องไปตรวจร่างกาย จะต้องนำเอกสารเหล่านี้ติดตัวไปด้วย * หนังสือเดินทาง * หนังสือรับรองที่พักอาศัยในฝรั่งเศส * รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมหมวก * Lettre timbre ที่กล่าวถึงในข้อ 4 และอากรแสตมป์ ราคา 55 ยูโร (อัตราเมื่อปี 2010)

6. เมื่อผ่านการตรวจร่างกายแล้ว ให้เก็บรักษาใบรับรองแพทย์ที่ได้รับ (Certificat médical) ไว้อย่างดี เพราะจะต้องใช้ในการขอทำบัตรพำนัก (Titre de séjour) ในระยะต่อไป

7. หน่วยงาน OFII จะเป็นผู้ประทับตรารับรองวีซ่าระยะยาว ซึ่งจะใช้แทนบัตรพำนัก (Titre de séjour) ในช่วงปีแรกที่ศึกษาในฝรั่งเศส

ข้อควรระวัง

ในกรณีที่ไม่สามารถไปตรวจร่างกายในวันที่ถูกเรียกตัว ด้วยเหตุสุดวิสัยใดก็ตาม ขอให้ยื่นคำร้องขอใบเรียกตัวใหม่ ที่ Direction Territoriale de l’OFII : OFII Direction Territorial de Paris – 48 rue de la Roquette 75011 PARIS การยื่นคำร้องดังกล่าวกระทำได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น

ประเภทข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ