ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

ระบบราชการในสาธารณรัฐฝรั่งเศส (4)

การจัดสอบ
กระทรวงแต่ละกระทรวงเป็นผู้ออกข้อกำหนดของกระทรวง ว่าด้วยจำนวนตำแหน่งที่จะเปิดสอบคัดเลือก และจัดสอบเอง ซึ่งผู้สมัครสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงข้าราชการพลเรือน  เมื่อสิ้นสุดการสอบแข่งขัน กระทรวงเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านการคัดเลือกตามลำดับคะแนน และ รายชื่อบุคคลสำรอง  หากมีตำแหน่งว่างลงก่อนมีการสอบครั้งต่อไป จะเรียกบรรจุจากรายชื่อบัญชีสำรอง  และจะทำการยกเลิกบัญชีรายชื่อบุคคลสำรองต่อเมื่อมีการเปิดสอบครั้งใหม่ และไม่เกิน 2 ปีหลังวันที่ประกาศรายชื่อสำรอง

การบรรจุแต่งตั้ง
เรียกตามรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนไว้ในรายชื่อผู้สอบผ่าน และ ต่อด้วยบัญชีรายชื่อบุคคลสำรองหน่วยงานอิสระบางหน่วยงาน  อาจเรียกบรรจุบุคลากรที่ขึ้นทะเบียนในรายชื่อผู้สอบผ่านของกระทรวงเจ้าสังกัด เข้าปฏิบัติงานในองค์กร

ระยะเวลาในการฝึกงาน
ผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือก จะมีสถานะเป็น “ข้าราชการทดลองงาน” ก่อน  สำหรับระยะเวลาการทดลองงานได้ถูกกำหนดตามสถานภาพของตำแหน่งที่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการ  เช่น ทดลองงาน 1 ปีสำหรับการคัดเลือกโดยการสอบเข้า และทดลองงาน 6 เดือนสำหรับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น  การทดลองงาน สามารถทำได้ในที่ทำงาน หรือในสถาบันฝึกอบรม  เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาทดลองงาน จึงจะได้รับการบรรจุมีสถานภาพเป็นข้าราชการโดยสมบูรณ์  ในกรณีที่ประเมินว่าข้าราชการทดลองงานยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบรรจุเป็นข้าราชการได้ สามารถต่อระยะการทดลองงานออกไปเป็นระยะเวลาเท่ากับระยะเวลาการทดลองงานครั้งแรก  ข้าราชการทดลองงานที่ไม่เคยรับราชการมาก่อนจะได้รับเงินเดือนขั้นเริ่มต้นของบัญชีเงินเดือนของตำแหน่งที่จะได้รับการบรรจุ  ผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานและได้รับการตีค่าประสบการณ์ อาจได้รับเงินเดือนขั้นสูงกว่านั้น  ข้าราชการที่อยู่ในระบบราชการอยู่แล้วทดลองงานเพื่อบรรจุในตำแหน่งใหม่สามารถคงอัตราเงินเดือนเดิมที่ได้รับระหว่างทดลองงาน

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาทดลองงาน กระทรวงจะมีประกาศบรรจุข้าราชการทดลองงานเป็นข้าราชการโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีประกาศบรรจุ จะนำเรื่องเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการบริหารข้าราชการ  Commission Administrative Paritaire (CAP)**  ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษาของกระทรวง

*********************************************************************

**คณะกรรมการบริหารข้าราชการ (CAP) เป็นกลุ่มตัวแทนข้าราชการ ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง (ตัวแทนรัฐ) และลูกจ้าง (ตัวแทน ขรก.) มาจากการเลือกตั้ง ฝ่ายละเท่าๆกัน และอยู่ในวาระ 4 ปี มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องใดๆ ที่จะมีผลกระทบต่อเรื่องส่วนรวม ได้แก่ การบริหารจัดการกลุ่มสายงาน  (corps) และส่วนบุคคล เช่น ความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของข้าราชการแต่ละคน (การบรรจุ การโยกย้าย)  แต่ละกลุ่มสายงาน (corps) จะมีคณะกรรมการบริหารฯของตน  กลุ่มสายงานที่มีบุคลากรจำนวนมาก จะมีคณะกรรมการฯ ตามเขตพื้นที่ เช่น ข้าราชการครู เป็นต้น  สมาชิกคณะกรรมการฯ กระทรวงในฐานะนายจ้าง ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการฯ เสมอไป หากเห็นว่าขัดต่อประโยชน์ของทางราชการ

ประเภทข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ