ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

การประชุมนักเรียนทุนรัฐบาลศึกษาในสาธารณรัฐฝรั่งเศสและสมาพันธรัฐสวิส พ.ศ. 2562

เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2562  สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศส ได้จัดการประชุมนักเรียนทุนรัฐบาลศึกษาในสาธารณรัฐฝรั่งเศสและสมาพันธรัฐสวิส พ.ศ. 2562 ณ เมืองลิยง สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 34 คน ประกอบด้วยนักเรียนศึกษาในฝรั่งเศส 26 คน / นักเรียนศึกษาในสวิตฯ 8 คน

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2562

ในภาคเช้า หลังจากการลงทะเบียนได้เริ่มกิจกรรมช่วงเช้า อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการศึกษา) นางสาวพนิดา  โรจน์รัตนชัย กล่าวรายงานจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส (นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ) เปิดประชุมสัมมนาพร้อมทั้งให้โอวาทถึงการมาศึกษาในต่างประเทศว่าเป็นโอกาสที่ดี นอกจากได้เรียนรู้วิชาการแล้ว ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต ทำให้มีประสบการณ์ เป็นผู้รอบรู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นบุคลากรที่มีคุณค่า จึงควรนำความรู้ที่ได้นี้กลับไปพัฒนาประเทศไทย เพื่อระดมให้เกิดความหลากหลายทางความคิด จึงขอให้นำเอาสิ่งดีหรือจุดแข็งของประเทศที่ศึกษากลับไปร่วมพัฒนาประเทศ   รวมทั้ง ขอให้มีความเชื่อมั่นในประเทศไทยเพราะเรามีจุดแข็งคือทรัพยากรที่มีค่าและมีความพร้อมมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ขอให้มีความเชื่อและมีความภูมิใจในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ช่วยกันพัฒนาประเทศเพื่อก้าวข้ามปัญหา พัฒนาประเทศไทยจากประเทศเกษตรกรรมโดยเพิ่มเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง เปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตเป็นการสร้างแบรนด์ของตนเอง

ทั้งนี้ นักศึกษาไทยในต่างประเทศคือยุวทูตคนหนึ่ง เสมือนเป็นกระจกสะท้อนที่นำเสนอให้คนในเมืองที่ศึกษาได้รู้จักประเทศไทยและคนไทย  จึงขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยให้คนต่างชาติได้รู้จักมากขึ้น นอกจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส มีความตั้งใจจะจัดกิจกรรมพูดคุยกับนักเรียนที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส เพื่อให้นักศึกษาได้พบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายต่อไป  ในตอนท้าย ออท. ณ กรุงปารีส ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้ง “มุมมองความเห็นที่ได้รับจากประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์” ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนจากนักเรียนไทย

ต่อมา รองเลขาธิการ ก.พ. (นางชุติมา หาญเผชิญ) ได้บรรยายเรื่องเส้นทางสู่การทำงานในภาคราชการ โดยกล่าวถึงประวัติการให้ทุนการศึกษาของไทยเริ่มมีในสมัยสุโขทัย แต่การจดบันทึกมีหลักฐานชัดเจนเริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยการส่งนักเรียนทุนมาศึกษาในต่างประเทศ  ด้วยวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เพื่อความรู้ที่เท่าเทียมและเท่าทัน เป็นบุคคลที่มีศักยภาพและนำความรู้กลับไปเพื่อร่วมการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไทย

ในปัจจุบันสำนักงาน ก.พ. ได้ปรับรูปแบบในการทำงานทิศทางใหม่ เป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกัน ในลักษณะของการระดมความคิดสร้างสรรค์เพื่อการบริหารจัดการและบูรณาการ (Hackathon) มีนักเรียนทุนรัฐบาลและคนรุ่นใหม่เป็นคณะทำงานมากขึ้น ซึ่งองค์ความรู้จากนานาชาติที่นำมาแบ่งปันข้อมูล เสนอความคิดการทำงานจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เกิดเป็นสังคมที่ดี มีการแข่งขัน มีโอกาสอย่างเสมอภาค ทัดเทียม พอเพียงและได้ผลลัพธ์ที่พอใจ  ซึ่ง แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี เป็นการวางแผนทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่จะเติมเต็มในแผนยุทธศาสตร์ทั้งในมิติวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์  ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้นักเรียนทุนรัฐบาลที่ยังไม่มีสังกัดทุน หรือนักเรียนทุนส่วนตัวกลับไปทำงานในไทย ได้ใช้ความรู้ความสามารถร่วมกันขับเคลื่อนทำโครงการใหม่ๆ ในเชิงรุกและสร้างสรรค์ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ โดยที่การทำงานภาครัฐเป็นข้าราชการและพนักงานราชการนี้ จะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาประเทศในเชิงโครงสร้างต่อไป

หลังจากนั้น รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การ UNESCO (นายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม) ในช่วง “มุมมองการทำงานกับองค์การระหว่างประเทศ” โดยได้กล่าวว่า ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) เป็นองค์การเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้แก่ ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม อยู่ในกำกับดูแลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations -  U.N ) ปัจจุบันปี 2019 มีสมาชิกร่วมในองค์การทั้งสิ้น 193 ประเทศ

ลักษณะในการทำงานขององค์การ เป็นการระดมความคิดเช่นเดียวกับกิจกรรมในวันนี้  ซึ่งการประชุมจะเป็นลักษณะปฏิบัติการทางความคิดของกลุ่มประเทศสมาชิก (Discussion Dialogue board) ในมิติที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการศึกษา (Education) วิทยาศาสตร์ (Sciences) และวัฒนธรรม (Culture) และได้ยกตัวอย่างหลายโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของประเทศไทยกับองค์การยูเนสโก อาทิ อุทธยานธรณีที่จังหวัดสตูล (Satun Geopark)  การขึ้นทะเบียนมรดกโลก เช่น โขน และการทำงานกับนักวิชาการไทยทางดาราศาสตร์ (NARIT) / ทางวิทยาศาสตร์อวกาศ (GISTDA)  ฯลฯ

นอกจากนี้มีการขับเคลื่อนทางความคิด โดยมีกลุ่มทำงานขององค์การหลายคณะหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มตามภูมิศาสตร์ ตามความสนใจ หรือผลประโยชน์ร่วมกัน โดย การทำงานกับผู้แทนหลากหลายประเทศ จำเป็นต้องมีวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งรองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก  ให้ข้อคิดกับนักเรียนว่า ขอให้เก็บรักษาลักษณะความเป็นไทยที่ดีเอาไว้ ไม่ทอดทิ้งละเลย และเสริมด้วยความรู้วิชาการอื่นๆ ในระหว่างการใช้ชีวิตในการเรียนในต่างประเทศ และได้ทิ้งท้ายกับคำกล่าวที่ว่า “Yesterday I was clever, so I want to change the world. Today I am wise, so I am changing myself”  

ในภาคบ่าย  กิจกรรมช่วงที่ 1 เป็นการบรรยายเรื่อง Goal Mapping System โดย วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศเดนมาร์ก (ดร. วราภรณ์  ลาร์เซน) โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนกำหนดเป้าหมายความสำเร็จในชีวิตของตนเอง ได้ทบทวนเป้าหมายความสำเร็จของชีวิต และรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่จะทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ โดยนักเรียนทุกคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และฝึกฝนการทำงานในกลุ่มย่อย

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562

ในภาคเช้า  ดร.วราภรณ์ ลาร์เซน ได้บรรยายหัวข้อ “ปรับเปลี่ยนวิธีการคิดลบให้เป็นบวก” ตามหลักทฤษฎี Positive Psychology และ “การป้องกันและจัดการกับความเครียด” โดยได้กล่าวถึง  “สมองกับความสำเร็จด้วย 7 หลักการ” และ การเชื่อมต่อความคิดกับจิตใต้สำนึก รวมทั้ง การเรียนรู้แนวคิดสู่ความสำเร็จ  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงข้อคิดกับจิตใต้สำนึก และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง รวมทั้งทราบถึงวิธีสร้างพลังให้จิตใต้สำนึก โดยมนุษย์จะสามารถควบคุมจิตใต้สำนึกได้ด้วยข้อคิดกับจิตวิทยาเชิงบวกที่ได้เรียนรู้

ต่อมา ผู้อำนวยการศูนย์จัดการศึกษาในต่างประเทศและบริหารความรู้ (นางสาววัชราพร รัตนยานนท์) ได้นำ นทร. และผู้เข้าร่วมประชุมทำกิจกรรม “กระซิบส่งข้อมูล” เพื่อให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมและเข้าใจถึงการสื่อสารระหว่างกัน ที่เป็นต้นเหตุของความเข้าใจผิดเพราะข้อมูลคลาดเคลื่อน ดังนั้น กรณีมีข้อสงสัยหรือไม่ชัดเจนใดๆ ขอให้สอบถามมายังเจ้าหน้าที่ซึ่งยินดีให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะ นักเรียนคือกำลังคนคุณภาพในความดูแลของเรา อีกทั้งขอให้นักเรียน ทุนรัฐบาลมีความสมัครสมานสามัคคีไม่แบ่งแยกสังกัดทุน

จากนั้นได้ให้ข้อมูลเรื่องการรับราชการ ซึ่งเป็นงานที่มีความมั่นคง งานที่ปฏิบัติมีความก้าวหน้าไต่ระดับขึ้นไปตามความรู้-ความสามารถและผลการปฏิบัติงานจนกระทั่งเกษียณ มีสิทธิรักษาพยาบาล ทั้งตัวข้าราชการและคู่สมรส บิดามารดา และบุตร  มีวันลาพักผ่อน ลาป่วย และลากิจในโอกาสต่างๆ เช่น ลาคลอดบุตร ลาอุปสมบท ลาศึกษาและฝึกอบรม  มีเวลาทำงานชัดเจนและมีวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ที่เป็นเวลาส่วนตัว

ในช่วงท้ายของการประชุม รองเลขาธิการ ก.พ. ได้ให้แง่คิดเรื่อง  7 อุปนิสัยคนคุณภาพ (7 habits of highly Effective People) ซึ่งนักเรียนทุกคนสามารถสร้างอุปนิสัยเหล่านี้ได้ ดังนี้

1. เป็นคนที่กำหนดชีวิตและสถานการณ์อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ปล่อยให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนเรา (Being Proactive # Reactive)

2. เริ่มต้นจากการมีภาพสุดท้ายที่ตั้งใจจะเป็นและที่มีความมุ่งหวัง (Being with the end in mild)

3. จัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วน ทำอย่างเต็มกำลังในเวลาที่มี (Put First Thing First)

4. ทำในสิ่งที่เกิดประโยชน์ ได้รับและแบ่งประโยชน์ร่วมกัน (Think Win-Win)

5. ก่อนทำการใดๆ ควรมีความเข้าใจผู้อื่นก่อน ถ้าเริ่มจากเข้าใจผู้อื่นก่อนเขาก็จะเข้าใจเรา (First To understand before being Understood)

6. พยายามทำสิ่งที่จะเสริมพลังในการทำงาน ซึ่งจะพัฒนาและเชื่อมโยงให้เกิดผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น (1+1<2 Symergize)

7. หมั่นเติมความรู้ ความคิดและประสบการณ์ ( Sharpen the saw) เพื่อเป็นบุคคลที่มีศักยภาพและเป็นคนดีในสังคม

หลังจากนั้น ได้ปิดการประชุม และนักเรียนเดินทางกลับเมืองที่ศึกษาโดยสวัสดิภาพ 

สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในประเทศฝรั่งเศส  / 26 มิถุนายน 2562

ประเภทข่าว: 

Share this post

สำนักงาน ก.พ.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) องค์การกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ภายใต้ระบบคุณธรรมทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการ บริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ