ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.


การพัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงานเกิดจากเจตนารมณ์ของสำนักงาน ก.พ.ที่จะปรับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการได้อย่างจริงจังมากขึ้น สำนักงาน ก.พ. จึงได้ศึกษาวิเคราะห์หาแนวทางการปรับปรุงพัฒนาระบบประเมินผลการปฏิบัติงานโดยเริ่มจากการขอความร่วมมือจากส่วนราชการมาร่วมให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพ
ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาที่พบมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่ชัดเจนในการประเมิน ความยุติธรรมในการประเมิน คุณธรรมและทักษะของผู้ประเมินการใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการประเมิน เกิดการประเมินเพียงด้านเดียวจากหัวหน้าหรือบางกรณีก็เป็นการประเมินแบบปรองดองเพื่อไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งประเมินตามระเบียบไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ ความเข้าใจในแบบประเมินและ
วิธีการประเมินที่ไม่ตรงกันของผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน การประเมินไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดการใช้แบบประเมินไม่ตรงกับวัตถุประสงค์หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือมีแล้วไม่ใช้ ซึ่งสาเหตุของปัญหาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวระบบประเมินเอง เครื่องมือ และ/หรือ ผู้ใช้
 
ดังนั้นเป้าหมายของสำนักงาน ก.พ. ในการพัฒนาและนำระบบใหม่มาใช้ในส่วนราชการ จึงได้แก่ การพัฒนาระบบและเครื่องมือที่สะท้อนความเป็นจริงและเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้ และการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ใช้คือผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน ซึ่งผู้ใช้ถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากที่สุดเพราะระบบใดๆไม่ว่าจะดีหรือสมบูรณ์เพียงใด หากผู้ใช้ขาดความรู้ความเข้าใจและการยอมรับที่จะปรับเปลี่ยน ระบบและเครื่องมือคงจะไม่มีคุณค่าประโยชน์อะไร
 
ทำไมต้องระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน
สำนักงาน ก.พ. ได้พัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) หรือที่เราๆเรียกกันติดปากว่าระบบ PM ขึ้นเพื่อให้ระบบนี้เป็นเครื่องมือในการบริหารผลการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร คำถามที่เกิดขึ้นก็คือแล้วการปรับปรุงพัฒนาระบบประเมินผลการปฏิบัติงานไปเกี่ยวกับระบบ PM ด้วยละ คำตอบสั้นๆ ง่ายๆก็คือระบบประเมินผลเป็นส่วนหนึ่งของระบบ PM ดังนั้นเวลาที่เราได้ยินคำว่า ระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน หรือ ระบบ PM นี้ เรามักตีความว่าระบบ PM คือ ระบบประเมินใหม่ที่สำนักงาน ก.พ. จะนำมาให้ใช้ ความคิดนี้ก็ถูกต้องแต่ก็ไม่ทั้งหมด
 
ระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน (PM) หมายถึง การบริหารแบบบูรณาการที่มุ่งเน้นผลการปฏิบัติงานของบุคคลในองค์กร เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
 
PM เป็นกระบวนการในการสร้างสภาพแวดล้อมและวิธีการในการทำงานที่สนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้างผลผลิตและผลการปฏิบัติงานที่สูงขึ้นและการสร้างความชัดเจนในผลการปฏิบัติงานโดยให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิบัติงานในระดับองค์กร
จากคำจำกัดความและความหมายของกระบวนการ PM จะเห็นได้ว่าระบบ PM ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกัน มิได้มุ่งเน้นแต่เพียงเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน หรือการวัดผลงานใน ตอนท้ายที่สุดเท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนการปฏิบัติงาน การพัฒนาผลการปฏิบัติงาน การติดตามผลการปฏิบัติงาน และการประเมินผลการปฏิบัติงาน
ระบบ PM หากนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่องแล้ว ประโยชน์ที่เราจะได้รับ คือประสิทธิภาพประสิทธิผลของผลการปฏิบัติงานที่เพิ่มพูนขึ้น การปฏิบัติงานของคนในองค์กรชัดเจนและมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน มีการสื่อสารภายในองค์กรที่ทั่วถึงทุกทิศทาง เกิดการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน การวัดผลการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมโปร่งใส สามารถสะท้อนคุณลักษณะของตัวงานและคุณค่าของผลการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม นอกจากนี้ผลของการประเมินผลการปฏิบัติงานยังสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ในงานบริหารบุคคลด้านอื่นๆอีกด้วย
 
หลักการระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน
หลักการระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน

ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) หมายถึง กระบวนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันให้ผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการบรรลุเป้าหมาย โดยการเชื่อมโยงเป้าหมายผลการปฏิบัติราชการในระดับองค์กร หน่วยงานและระดับบุคคลเข้าด้วยกัน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานกระบวนการความต่อเนื่อง ตั้งแต่

๑) การวางแผนการปฏิบัติงานที่จะต้องทำให้ชัดเจน และสอดคล้องกับทิศทางตามยุทธศาสตร์ขององค์กร 
๒) การติดตามผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ผู้บังคับบัญชากำกับ ดูแล ให้คำปรึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง 
๓) การพัฒนาผลการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ดียิ่งขึ้น 
๔) การประเมินผลการปฏิบัติราชการเพื่อวัดความสำเร็จของงาน โดยเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก และ 
๕) การนำผลที่ได้จากการประเมินไปประกอบการพิจารณาตอบแทนความดีความชอบแก่ผู้ปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ ระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานยังเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ปฏิบัติงาน ในการผลักดันผลการปฏิบัติราชการให้สูงขึ้น และสอดคล้องกับทิศทาง เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของ
ส่วนราชการ โดยมีการนำตัวชี้วัดผลงานหลัก (Key Performance Indicators - KPIs) มาใช้เป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการทำงานของบุคคลร่วมกัน ซึ่งผู้บังคับบัญชาสามารถติดตามผลการปฏิบัติงาน หาแนวทางในการพัฒนาผู้ปฏิบัติงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดผลงานหลักที่กำหนดนั้นๆ เพื่อจะได้ให้สิ่งจูงใจสำหรับการเสริมสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่มีผลการปฏิบัติราชการดี เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ซึ่งระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานประกอบด้วยขั้นตอนหลักดังแผนภาพ

แผนภาพกระบวนการบริหารผลการปฏิบัติงาน

กระบวนการบริหารผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ๕ ขั้นตอนหลัก ดังนี้

๑) ขั้นตอนการวางแผน
เป็นขั้นตอนในช่วงต้นรอบการประเมินที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ประเมินจะได้มี
การมอบหมายงานให้แก่ผู้รับการประเมิน และร่วมกับผู้รับการประเมินวางแผนการปฏิบัติ
ราชการ พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายผลการปฏิบัติราชการร่วมกันในลักษณะตัวชี้วัดและ
ค่าเป้าหมายที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของงานที่คาดหวังในรอบการประเมินนั้นๆ ทั้งนี้ สามารถ
ปรับเปลี่ยนตามเป้าหมายและแผนงานของหน่วยงานหรือส่วนราชการได้ตามความจำเป็น

๒) ขั้นตอนการติดตาม
เป็นขั้นตอนในระหว่างรอบการประเมินที่ผู้บังคับบัญชาจะทำการติดตามความก้าวหน้าในการปฏิบัติราชการ เพื่อการกำกับดูแลการทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ทราบและแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน อันจะทำให้ผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน

๓)ขั้นตอนการพัฒนา
เป็นขั้นตอนที่เป็นผลที่ได้จากการติดตามผลการทำงาน และเป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาว่างานที่ทำอยู่นั้นต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาการทำงานอย่างไร และยังเป็นขั้นตอนที่สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพการทำงานอีกด้วย

๔) ขั้นตอนการประเมินผลการปฏิบัติราชการเป็นขั้นตอนในช่วงสิ้นรอบการประเมิน เพื่อตรวจสอบความสำเร็จของงานอันเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานของผู้รับการประเมินรายนั้นๆ ว่าผลการปฏิบัติราชการในระหว่างรอบการประเมินเป็นไปตามผลสัมฤทธิ์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามตัวชี้วัดผลงานหลัก (KPIs) ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นรอบการประเมินหรือไม่ เพียงใด ตามเกณฑ์มาตรฐานผลงานที่ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินร่วมกันกำหนด

๕) ขั้นตอนการให้สิ่งจูงใจ 
เป็นขั้นตอนที่นำผลการประเมินในขั้นตอนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ มาพิจารณาให้สิ่งตอบแทนแก่บุคคลที่ได้มีการทุ่มเทการทำงานและได้ผลงานที่ดีเกิดขึ้นแก่หน่วยงานหรือส่วนราชการจากกระบวนการในระบบการบริหารผลการปฏิบัติงานในส่วนราชการตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้เหมาะสมกับการปฏิบัติ

หน้าที่ของข้าราชการในส่วนราชการที่เรียกว่า “หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ” โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 
๑) เพื่อเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการกำกับติดตามเพื่อให้ส่วนราชการและจังหวัด สามารถบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล และ 
๒) เพื่อให้ผู้บังคับบัญชานำผลการประเมินการปฏิบัติราชการไปใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนและการให้เงินรางวัลประจำปีแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญตามหลักการของระบบคุณธรรม อันจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและแรงจูงใจในการพัฒนาผลงานของข้าราชการหลักการของการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผล
การปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๒/ว ๒๐ ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๒ มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้ 
๑)ให้ส่วนราชการยืดหยุ่นในการเลือกวิธีการ ได้แก่ 
๑.๑) แบบประเมินโดย ก.พ. กำหนดเฉพาะแบบสรุปการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ให้มีสาระไม่น้อยกว่าที่ ก.พ. กำหนดในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๒/ว ๒๐ โดยส่วนราชการอาจกำหนดเพิ่มเติมจากที่ ก.พ. กำหนดก็ได้ 
สำหรับแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน และแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติราชการหรือสมรรถนะนั้น ก.พ. ให้ส่วนราชการกำหนดเองได้ตามความเหมาะสม
๑.๒) น้้าหนักองค์ประกอบในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ก.พ. กำหนดอย่างน้อย ๒ องค์ประกอบ คือ ผลสัมฤทธิ์ของงานและพฤติกรรมในการปฏิบัติราชการ โดยกำหนดว่าน้ำหนักผลสัมฤทธิ์ของงานต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ 
ซึ่งส่วนราชการอาจกำหนดผลสัมฤทธิ์ของงานร้อยละ ๗๐ และสมรรถนะ ร้อยละ ๓๐ หรืออาจกำหนดผลสัมฤทธิ์ของงานร้อยละ ๘๐ และสมรรถนะร้อยละ ๒๐ ก็ได้ และอาจกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
๑.๓) ระดับผลการประเมิน โดย ก.พ. กำหนดให้แบ่งกลุ่มคะแนนผลการประเมินออกเป็นอย่างน้อย ๕ ระดับ ได้แก่ ดีเด่น ดีมาก ดี พอใช้ และต้องปรับปรุง แต่ส่วนราชการอาจกำหนดให้แบ่งกลุ่มคะแนนมากกว่า ๕ ระดับก็ได้ ทั้งนี้ การกำหนดช่วงคะแนนในแต่ละระดับของผลการประเมิน ให้เป็นดุลพินิจของส่วนราชการ แต่กลุ่มคะแนนต่ำสุดของระดับพอใช้ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖๐
๒) มีความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
๒.๑) ก่อนเริ่มรอบการประเมินหรือในช่วงเริ่มรอบการประเมินให้ส่วนราชการระดับกรมหรือจังหวัด ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดทราบโดยทั่วกัน
๒.๒) การพิจารณาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการมอบหมายงาน การประเมินผลการปฏิบัติราชการ และดัชนีชี้วัด หรือ หลักฐานบ่งชี้ความสำเร็จของงานอย่างเป็นรูปธรรม
๒.๓) ให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้รับการประเมินทราบเป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ผู้รับการประเมิน
๒.๔) ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองผลการประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่พิจารณาเสนอความเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานและความเป็นธรรมของการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ 
๒.๕) ให้มีระบบจัดเก็บข้อเท็จจริงจากผลการปฏิบัติราชการ เพื่อในกรณีที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลการประเมินจะได้มีหลักฐานอ้างอิงได้

 

PM ของสำนักงาน ก.พ. 
การพัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.พ. เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของสำนักงาน ก.พ. ที่ต้องการพัฒนาระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานในระดับบุคคลของข้าราชการพลเรือนโดยมุ่งให้เห็นความสำคัญของข้าราชการทุกระดับที่มีต่อความสำเร็จขององค์กร    สำนักงาน ก.พ. จึงศึกษาวิเคราะห์  และพัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงานขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากระบบบริหารผลการปฏิบัติงานเป็นเครื่องมือในการบริหารองค์กรที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานโดยสมบูรณ์ ตั้งแต่เริ่มงานจนสำเร็จ มิใช่เน้นแค่เรื่องการประเมินเท่านั้น ดังนั้นระบบบริหารผลการปฏิบัติงานที่สมบูรณ์นี้จึงสร้างเสริมประสิทธิภาพประสิทธิผลองค์กรและเกิดความสอดคล้องกันในทุกระดับเป้าหมายขององค์กร
 
ระบบ PM นี้ดีจริงหรือ
เพื่อเป็นการยืนยันว่าระบบนี้มีดีจริง สำนักงาน ก.พ. จึงได้นำระบบดังกล่าวมาทดลองดำเนินการจริงในสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเสียงตอบรับที่ได้มีทั้งดีและไม่ดีซึ่งในการนำระบบ PM มาใช้นี้ถึงแม้ว่าจะมีความยากลำบากและอุปสรรคอยู่บ้างเนื่องจากเป็นระบบใหม่     ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ   และการยอบรับการเปลี่ยนแปลง แต่ข้าราชการส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เห็นว่าระบบ PM เป็นระบบที่ดี มีประโยชน์อย่างมาก การพัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงานเริ่มจากการจัดประชุมระดมความคิดเห็นข้าราชการจากส่วนราชการต่างๆ   เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาตัวแบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน จากนั้นจึงทดลองนำตัวแบบระบบดังกล่าวมาดำเนินการจริงในสำนักงาน ก.พ. และได้เก็บรวมรวมเนื้อหา ทฤษฎีตัวอย่างและปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดประชุมระดมความคิดเห็นอีกครั้งใน สำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับระบบโดยรวมและการนำไปใช้จริง

 

 

กรณีศึกษา/ตัวอย่าง 
ประเทศออสเตรเลีย
 
- จุดประสงค์และแนวทาง
ส่วนราชการมีหน้าที่ในการพัฒนาระบบบริหารผลการปฏิบัติงานในองค์กรของตนเอง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือประสิทธิภาพสูงขึ้น มีผลลัพธ์ที่ชัดเจนและมีการตอบรับต่อสาธารณชนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังคำนึงถึงความโปร่งใสด้วย โดยรัฐบาลออสเตรเลียใช้แนวทางที่ครอบคลุมการบริหารผลการปฏิบัติงานในทุกด้าน แต่มีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดริเริ่มที่แตกต่างกันไป ซึ่งความคิดริเริ่ม (Initiatives) ส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาจากระดับบริหาร กระทรวงการคลังมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาและการนำแผนหลักๆไปปฏิบัติ นอกจากนี้ส่วนราชการที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ The management Advisory Board และ The Management Improvement Advisory Committee
 -  การวัดผลการปฏิบัติงาน
มีการพัฒนาระบบการวัดผลการปกิบัติงานที่ชัดเจนและนำตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานมาใช้ในการตั้งเป้าหมายและการประเมินผลงาน โดยมุ่งเน้นที่ผลผลิตและผลลัพธ์ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงตัวชี้วัดในด้านคุณภาพด้วยการวัดผลการปฏิบัติงานยังครอบคลุมการจัดการด้านการเงินโดยส่วนราชการจะต้องผลิตรายงานการเงินประจำปีโดยเน้นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานโดยตรง และมีการรายงานข้อมูลผลการปฏิบัติงานต่อสาธารณชนในรูปแบบของรายงานประจำปี
 -  คุณภาพการบริการ
มีการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานโดยร่วมมือกับผู้รับบริการเรียกว่า Government Service Charters นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้วย
 - การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ส่วนราชการทำการประเมินตนเองโดยมี The Australian National Audit Office ทำการตรวจสอบโดยมุ่งเน้นที่ระบบที่แต่ละส่วนราชการใช้ในการประเมินตนเอง
-  การนำข้อมูลผลการปฏิบัติงานไปใช้
มี การนำข้อมูลผลการปฏิบัติงานไปใช้ในการจัดการงบประมาณ ผลของการประเมินจะถูกใช้ในการสนับสนุนคำของบประมาณ และนำไปใช้ในการจ่ายค่าตอบแทนอีกด้วย

 

ประเทศฝรั่งเศส
 
- จุดประสงค์และแนวทาง
จุดประสงค์ที่สำคัญในการนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงานมาใช้คือต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา และการเสริมสร้างความโปร่งใส ตลอดจนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น แนวทางของระบบเป็นแนวทางที่ครอบคลุมการบริหารผลการปฏิบัติงานในทุกด้าน โดยแต่ละส่วนราชการพัฒนาความคิดริเริ่มต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการและปัญหาเฉพาะ
ในแต่ละองค์กร โดยมีกระทรวงการคลังรับผิดชอบในการบริหารผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและการวัดผลการปฏิบัติงาน
- การวัดผลการปฏิบัติงาน
มีการพัฒนาระบบการวัดผลการปฏิบัติงานที่เป็นทางการขึ้น โดยมีการใช้ตัวชี้วัดกันอย่างกว้างขวาง ผลการปฏิบัติงานแต่ละอย่างต้องมีทั้งตัวชี้วัดคุณภาพและปริมาณ ตัวชี้วัดทางด้านการเงินก็ได้รับความสำคัญเช่นกัน มีการสนับสนุนให้มีการรายงานข้อมูลผลการปฏิบัติงานต่อสาธารณชนมากขึ้น โดยมีการจัดทำรายงานทางด้านการเงินตามผลการปฏิบัติงานประจำปี
 - คุณภาพการบริการ
มีการจัดทำมาตรฐานการบริการโดยมุ่งเน้นให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีการเขียนรับรองคุณภาพเป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถวัดได้จากความพึงพอใจของผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังมีการนำการบริหารจัดการคุณภาพมาใช้ด้วย  
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ส่วนราชการประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง โดยมี The Court of Auditorsในการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ภายในเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน และมี The Scientific Council of Evaluation รับรองคุณภาพและความโปร่งใสในการประเมิน
 - การนำข้อมูลผลการปฏิบัติงานไปใช้
มีการจัดการงบประมาณตามผลการปฏิบัติงานภายในส่วนราชการ แต่ยังไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานอย่างกว้างขวาง

 

 

ประเทศสหราชอาณาจักร
 
-  จุดประสงค์และแนวทาง
จุดประสงค์สำคัญคือการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในเรื่อง Value for money รวมถึงการเสริมสร้างความโปร่งใสและการลดขนาดของภาครัฐและงบประมาณในการปฏิบัติงาน โดยมีการนำแนวทางไปใช้กับส่วนราชการอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อดำเนินการความคิดริเริ่มของระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน ได้แก่ Efficiency Unit Citizen’s Charter
Unit และ Next Steps Team
- การวัดผลการปฏิบัติงาน
การวัดผลการปฏิบัติงานมุ่งที่ตัวชี้วัดที่สำคัญ เข้าใจง่าย และมีจำนวนไม่มากนักโดยมุ่งเน้นตัวชี้วัดที่วัดผลผลิตและคุณภา นอกจากนี้ถึงแม้ว่าส่วนราชการมีการรายงานการจัดการด้านการเงิน ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการเงินยังต้องได้รับการพัฒนา การจัดสรรข้อมูลรายการ Best practice ให้แก่หน่วยราชการเพื่อให้เกิดการบูราณาการ การวางแผน การจัดการงบประมาณ การติดตามผลการปฏิบัติงานและการรายงานผลการปฏิบัติงาน และมีการเปิดเผยรายงานข้อมูลผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อสาธารณชนทั่วไป โดยมักจะรายงานส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณและการเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้
- คุณภาพการบริการ
คุณภาพการบริการเป็นแกนสำคัญและต้องได้รับการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรว่าบริการที่คาดหวัง นอกจากนี้การสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการยังถูกนำมาใช้ในการพัฒนามาตรฐานอีกด้วย 
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ส่วนราชการต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยมุ่งเน้นที่การตรวจสอบ Valuefor money โดย The Efficiency Unit 
- การนำข้อมูลผลการปฏิบัติงานไปใช้
ข้อมูลผลการปฏิบัติงานถูกนำมาใช้ในการจัดสรรงบประมาณ และมีการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานอย่างกว้างขวางขึ้น 

 

 

ประเทศสหรัฐอเมริกา
 
- จุดประสงค์และแนวทาง
จุดประสงค์ในการใช้ระบบบริหารผลการปฏิบัติงานคือการปรับโครงสร้างของภาครัฐให้มุ่งไปที่งานที่เป็นงานหลักแท้จริงและมีความยืดหยุ่นโดยเน้นผลการปฏิบัติงานที่มีความโปร่งใสเป็นจุดประสงค์หลักสำคัญ และการประหยัดทรัพยากรเป็นจุดประสงค์รอง
ทุกส่วนราชการปฏิบัติตามแนวทางระบบบริหารผลการปฏิบัติงานที่รับมาจากระดับบนโดยมีความยืดหยุ่นเปิดโอกาสให้เกิดความคิดริเริ่มจากระดับล่างได้ด้วยเช่นกัน หน่วยงานสำคัญในการริเริ่มและพัฒนาแผนงานคือ The National Performance Review และมีหน้าที่ในการติดตามผลการปฏิบัติงานด้วย
 - การวัดผลการปฏิบัติงาน
การวัดผลการปฏิบัติงานทำโดยมีเป้าหมายที่ตั้งไว้และตัวชี้วัด โดยเน้นตัวชี้วัดผลผลิตที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ และมีการพัฒนาการจัดทำบัญชีรายจ่ายที่สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงาน โดยการบูรณาการการดังกล่าวเป็นจุดประสงค์ของ
แผนงานหลายๆแผน
ส่วนราชการบางแห่งยังคงไม่เห็นด้วยกับการรายงานข้อมูลผลการปฏิบัติงานทั้ง หมด อย่างไรก็ตามข้อบังคับกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูล โดยส่วนราชการต้องรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีที่เปรียบเทียบเป้าหมายที่ คาดหวังกับผลการปฏิบัติงานจริง ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะเป็นส่วนประกอบสำคัญในการพิจารณางบประมาณ
- คุณภาพการบริการ
ส่วนราชการต้องพัฒนามตรฐานการบริการและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวอย่างชัดเจนทั้งนี้ส่วนราชการสามารถใช้การสำรวจหาความต้องการและความพึงพอใจของผู้รับบริการ นอกจากนี้มีการนำระบบบริหารจัดการคุณภาพมาใช้ด้วย
- การประเมินผลการปฏิบัติงาน
ส่วนราชการทำการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเอง และได้รับการสุ่มตรวจสอบโดยที่ส่วนราชการต้องวางแผนเตรียมตัวสำหรับการตรวจสอบไว้ในแผนกลยุทธ์  
 - การนำข้อมูลผลการปฏิบัติงานไปใช้
ส่วนราชการได้รับการจัดสรรงบประมาณตามผลการปฏิบัติงาน โดยแต่ละหน่วยงานมีอิสระในการออกแบบระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับหน่วยงานของตน