ค้นหาข้อมูล
สำนักงาน ก.พ.

คำถามที่ ถูกถามบ่อย (FAQ)

เราได้รวบรวมคำถามที่ถูกถามบ่อยไว้ที่นี่ หากท่านไม่พบหัวข้อคำถามที่ต้องการหรือคำตอบยังไม่เป็นที่กระจ่าง กรุณาติดต่อหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องได้ที่หน้า หน่วยงานภายในสำนักงาน ก.พ. หรือที่หน้า ติดต่อเรา


ถาม  การพิจารณาดําเนินการในกรณที่มีการร้องเรียนกล่าวหามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

ตอบ ในกรณีที่มีการร้องเรียนกล่าวหาผู้ใต้บังคับบัญชาว่ากระทําผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ จะต้องดําเนินการพิจารณาเบื้องต้นหรือสืบสวนว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยหรือไม่ โดยสํานักงาน ก.พ. ได้วางแนวทางในการดําเนินการดังกล่าวไว้ ตามหนังสือสํานักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๑ /ว ๑๙ ลงวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๗ โดยสรุปสาระสําคัญ ดังนี้

1. กรณีการร้องเรียนกล่าวหาโดยบัตรสนเท่ห์ (หนังสือกล่าวหาที่ไม่ปรากฏชื่อผู้กล่าวหา หรือใช้นามแฝงอื่นใด) ให้รับพิจารณาเฉพาะเรื่องที่ปรากฏพยานหลักฐานเบื้องต้นหรือเรื่องที่มีการบ่งชี้ถึงพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสืบสวนหรือสอบสวนต่อไปได้
2. กรณีที่มีการร้องเรียนกล่าวหาโดยปรากฏพยานหลักฐานในเบื้องต้นเพียงพอที่จะสามารถพิจารณาได้ว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาหรือไม่ ก็ให้ดําเนินการพิจารณาในเบื้องต้นได้ (เพื่อสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 91) โดยไม่ต้องดําเนินการสืบสวน
3. กรณีที่การร้องเรียนกล่าวหาแต่พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะพิจารณาได้ว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาหรือไม่ ก็ให้รีบดําเนินการสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น ทั้งนี้ การดําเนินการให้ดําเนินการในทางลับ (ประกอบหนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/ว218 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2541)

ถาม เมื่อผู้บังคับบัญชาชั้นต้นได้รับเรื่องร้องเรียนหรือตรวจพบว่าผู้ใต้บังคับบัญชากระทําผิดวินัยจะต้องดําเนินการอย่างไร

ตอบ ต้องรายงานเรื่องร้องเรียนหรือข้อเท็จจริงอันเป็นการกระทําความผิดวินัยไปยังผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สําหรับในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นและเพื่อประโยชน์ของราชการ เช่น หากปล่อยให้ล่าช้าไปพยานหลักฐานจะถูกทําลาย หรือไม่อาจรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวได้ ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น อาจจะดําเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นและรายงานไปเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้

คําถาม : เมื่อข้าราชการถูกล้างมลทิน ยังถือว่าเคยกระทําผิดวินัยอยู่หรือไม่ และ การล้างมลทินก่อให้เกิดสิทธิใดแก่ข้าราชการที่ได้รับการล้างมลทินบ้าง และข้าราชการนั้น จะมีสิทธิขอรับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาได้หรือไม่

คําตอบ : ข้าราชการที่ได้รับการล้างมลทินแล้วให้ถือว่าไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยมาก่อนเลย ก่อให้เกิดสิทธิคือหากอยู่ในระหว่างถูกตัดเงินเดือนก็ไม่ต้องถูกตัดอีกต่อไป หรือในกรณีถูกโทษออกจากราชการก็ไม่เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามาตรา ๓๖ สามารถกลับเข้ารับราชการได้โดยไม่ต้องขอยกเว้นคุณสมบัติ แต่ไม่สามารถขอรับเหรียญได้เนื่องจากแม้ถูกล้างมลทินแล้วก็เป็นการล้างเฉพาะโทษไม่ใช่การล้างความผิด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผู้รับราชการมาด้วยความเรียบร้อยอันเป็นคุณสมบัติในการขอรับพระราชทานเหรียญ 

คำถาม ผมเรียนจบเทคโนโลยีสารสนเทศมาซึงเป็นเอกที่เปิดย่อยมาจา วิทยาการคอมพิวเตอร์ผมเลยไปสมัครสอบในตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ เขาไม่ให้สมัครบอกวาวุฒิไม่ตรงกับตำแหน่ง โดยเขาบอกว่าตำแหน่งนี้ทาง กพ กำหนดให้ผู้ที่จบสาขา วิศวะคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เท่านั้น เพราะเอกอื่น กพ ไม่รับรองว่าเป็นเอกทางคอมพิวเตอร์ทังทีวิชาที่เรียนไม่ได้ต่างจากวิทยาการคอมพิวเตอร์เท่าไรเลย และผมได้สอบถามทางมหาลัยเขาก็บอกว่าเป็นเอกทางคอมพิวเตอร์แน่นอนไม่งั้น กพ คงไม่ไห้เปิดสอนหรอก ผมก็เลยอยากทราบว่าเอกที่ผมจบใช่ทางคอมพิวเตอร์ไหม และสามารถสมัครสอบเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ได้ไหม ถ้าไม่ได้สามารถสอบในตำแหน่งไดได้บ้าง ถ้าไม่มีตำแหน่งรองรับแล้ว กพ รับรองได้ยังไง เพราะตอนนี้ทั้งผมและเพื่อนและรุ่นน้องอีกหลายร้อยชีวิตรอคำตอบอยู่ ถ้าไม่ได้คงต้องย้ายเอกกันแน่นอนครับ เพราะถ้าเรียนจบมาคงไม่มีตำแหน่งให้จะเรียนทำไม ขอคำตอบด่วนด้วยนะครับเพราะเขาไกล้จะปิดรับสมัครแล้ว

คำตอบ ตอบ สำนักงาน ก.พ. มีหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าเป็นวุฒิทางใด ในระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี จะต้องศึกษาวิชานั้น ๆไม่ต่ำกว่า 30 หน่วยกิต ตามระบบการศึกษาทวิภาค และไม่ต่ำกว่า 38 หน่วยกิต ตามระบบการศึกษาไตรภาค (ในกรณีหลักสูตรปริญญาตรีเนื่อง พิจารณารายวิชาที่ศึกษาในระดับปริญญาตรี 2 ปีหลังซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต แล้วจึงพิจารณาจากรายวิชาที่ศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรืออนุปริญญา หรือเทียบเท่าไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต) ในกรณีของคุณ หากไปสมัครงานในหน่วยงานราชการพลเรือน (ในกรณีที่ส่วนราชการนั้น ประกาศรับสมัครตำแหน่งนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ต้องการผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งทางคอมพิวเตอร์) เขาจะรับสมัครคุณไว้ หากคุณสอบผ่านขั้นตอนการคัดเลือก/ แข่งขัน ส่วนราชการนั้น ๆ จะส่งเอกสารหลักฐานมาให้ สำนักงาน ก.พ. ตรวจสอบรายวิชาคอมพิวเตอร์ ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ค่ะ

คำถาม ผมได้สอบผ่านภาค ก และได้รับใบแล้วตั้งแต่ปี 2544 ถ้าผมจะต้องใช้สมัครภาค ข จะต้องสอบใหม่หรือไม่ครับ ขอบคุณมากครับ

คำตอบ สำนักงาน ก.พ. ขอเรียนว่า ท่านสามารถนำหนังสือรับรองผลการสอบผ่านภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ของ ก.พ. ไปใช้ในการสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญในส่วนราชการต่าง ๆ ได้และหนังสือรับรองผลการสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) ของ ก.พ. มิได้มีการกำหนดอายุหนังสือฯ ไว้ โดยมีผลใช้ได้ตลอดไปจนกว่า ก.พ. จะมีมติให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

คำถาม ตอนนี้บรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น(อบต.) ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 2(บรรจุมา 3 ปี) อยากทราบว่าถ้าบรรจุใหม่เป็นข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชี 2สามารถโอนอายุงานไปได้ไหมค่ะ และมีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ขอบคุณค่ะ

คำตอบ ในกรณีที่ท่านเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น (อบต.) ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 2 ถ้าลาออกและประสงค์จะบรรจุใหม่เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญนั้น สามารถนำเวลาราชการขณะที่เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น (อบต.) มาเทียบระดับตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อประโยชน์ในการเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นได้ ส่วนจะนับอายุราชการเดิมต่อเนื่องกับอายุราชการใหม่เพื่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กรมบัญชีกลางต่อไป

คำถาม ถ้าสอบผ่านภาค ก. ของ ก.พ. แล้ว แต่ทำหนังสือรับรองผลสอบผ่านภาค ก. หาย จะติดต่อขอรับใหม่ได้อย่างไร

คำตอบ โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://job.ocsc.go.th/ เมนูย่อย ใบแทนหนังสือรับรองภาค ก.
การขอใบแทนหนังสือรับรองผลการสอบภาค ก.

คำถาม กรณีข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา (โดยเฉพาะคนใกล้ชิดของอธิการบดี) มีหน้าที่ทำการสอน แต่ไปว่าจ้างคนอื่น (ไม่ใช่อาจารย์อัตราจ้าง) ให้มาสอนแทนตนเองโดยให้สอนตลอดภาคการศึกษา และตนเองก็ไปทำงานอื่นๆส่วนตัว ซึ่งนอกจากคนกลุ่มดังกล่าวไม่ทำงานแล้วเงินเดื่อนยังขึ้นทุกปี และยังได้สวัสดิการต่างๆจากทางราชการ ยังไม่พอยังเอาผลงานไปขอ ผศ รศ ได้อีกถามว่ามีความผิดมากถึงระดับไหน จะร้องเรียนหรือแจ้งเรื่องดังกล่าวได้ที่ใหนบ้างนอกจาก สกอ เนื่องจากมี นิติกร ของสกอ บางท่านเป็นพวกของคนเหล่านี้อยู่

คำตอบ ขอเรียนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องข้าราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงขอแนะนำให้ท่านแจ้งข้อเท็จจริงที่ชัดเจนโดยละเอียดพร้อมพยานหลักฐาน (ถ้ามี) ของข้าราชการที่มีพฤติกรรมดังกล่าวไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อผู้บังคับบัญชาของข้าราชการผู้นั้นจะได้ตรวจสอบสืบสวนและดำเนินการทางวินัยต่อไป ส่วนจะเป็นความผิดทางวินัยอย่างไรนั้น โดยที่ข้าราชการที่ท่านกล่าวถึงเป็นบุคลากรทางการศึกษา การดำเนินการทางวินัยรวมถึง การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการพิจารณาโทษทางวินัยจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ 2547 ท่านอาจสอบถามหรือหารือไปยังกระทรวงศึกษาธิการอีกทางหนึ่ง

คำถาม กรณีที่ข้าราชการถูกกลั่นแกล้งจากหัวหน้างาน ไม่ยอมเซ็นประเมินผลงานให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงขึ้น โดยอ้างว่าผลงานที่เคยทำไม่เข้มพอที่จะส่งประเมินได้ กรณีนี้ ข้าราชการผู้นั้นควรทำอย่างไร เนื่องจากการกระทำของหัวหน้างานดังกล่าว ทำให้ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร และจริง ๆ ใครจะเป็นผู้ตัดสินว่างานที่ประเมินนั้นเข้มพอหรือไม่

คำตอบ ในระบบการประเมินจะต้องเสนอผ่านผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจในการพิจารณาผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ แต่ถ้าหากผู้ถูกประเมินเห็นว่าเป็นการประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิ หรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร ก็อาจใช้สิทธิร้องทุกข์ เพราะเหตุคับข้องใจได้ตามนัยมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบกฎ ก.พ. ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2543) ว่าด้วยกรณีที่อาจร้องทุกข์ การร้องทุกข์ และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ขอให้แก้ไขความคับข้องใจ โดยจะต้องร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. แล้วแต่กรณี เช่น ถ้าเหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหาร ส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อ อ.ก.พ. กรม และ อ.ก.พ. ดังกล่าวจะเป็นผู้พิจารณา เป็นต้น นอกจากนั้นอาจร้องทุกข์ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2540) ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ ขอให้แก้ไขการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้ด้วย หากเป็นกรณีที่เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดใน กฎ ก.พ.