Accessibility Tools

สำนักงาน ก.พ. (OCSC)

ocsc-nav-logo

ติดต่อเรา

Search
Close this search box.
เมนูที่เกี่ยวข้อง

คำถามที่พบบ่อย สตค.

Q1: หลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่ง

Q: กรณีเปลี่ยนชื่อตำแหน่งในการบริหาร ต้องเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณาหรือไม่ หรือเป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการสามารถดำเนินการได้เอง
A: ต้องเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณา ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

Q: เมื่อมีการปรับ JD ของตำแหน่ง จะต้องเสนอ อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณาก่อนนำไปใช้หรือไม่
A: นำเสนอ อ.ก.พ. กรม เพื่อให้รับทราบ ก่อนนำไปใช้

Q: ส่วนราชการ A ได้รับอนุมัติให้กำหนดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านบริหารโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน) ซึ่งในส่วนราชการยังไม่เคยมีการกำหนดตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญทางด้านนี้มาก่อน จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการจัดกลุ่มตำแหน่งอย่างไรบ้าง
A: กรณีนี้ เป็นกรณีที่มีการกำหนดตำแหน่งใหม่ ส่วนราชการสามารถจัดกลุ่มตำแหน่งเพิ่มเติมได้ ตามหลักเกณฑ์การจัดกลุ่มตำแหน่งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 16 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2564 โดยเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณา และแจ้งมติ อ.ก.พ. กระทรวง ให้ ก.พ. ทราบด้วย

Q2: การกำหนดตำแหน่งประเภทวิชาการ

Q: การกำหนดตำแหน่งในสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีลักษณะงานวิจัยและพัฒนาหรืองานลักษณะอื่นที่มีคุณค่าเทียบได้กับลักษณะงานวิจัยและพัฒนา ในลักษณะกรอบระดับตำแหน่งเป็นตำแหน่งระดับปฏิบัติการหรือชำนาญการหรือชำนาญการพิเศษ ต้องดำเนินการอย่างไร
A: ส่วนราชการต้องตรวจสอบสายงานที่กำหนดไว้ในบัญชีรายชื่อสายงานของตำแหน่งประเภทวิชาการ
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และลักษณะงาน รายละเอียดตามเอกสารแนบ 1 ในหนังสือสํานักงาน ก.พ.ที่ นร 1008/ว 2 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 และดำเนินการตามหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนำเสนอคณะกรรมการการกำหนดตำแหน่งระดับสูงของกระทรวงพิจารณากลั่นกรอง ก่อนเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณากำหนดตำแหน่ง

Q3: การเกลี่ยอัตรากำลัง

Q: ส่วนราชการสามารถดำเนินการเกลี่ยอัตรากำลังที่กำหนดไว้ในราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือราชการ
บริหารส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค ไปกำหนดตำแหน่งไว้ที่ราชการบริหารส่วนกลางได้หรือไม่

A: ส่วนราชการไม่สามารถเกลี่ยอัตรากำลังที่กำหนดไว้ในราชการบริหารส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนกลางที่ตั้งในภูมิภาค ไปกำหนดเป็นตำแหน่งและอัตราเงินเดือนในราชการบริหารส่วนกลางได้ เว้นแต่กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงภารกิจของส่วนราชการที่เป็นสาระสำคัญและไม่กระทบต่อการบริการประชาชนในส่วนภูมิภาคที่กำหนดไว้ในหนังสือสํานักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 2 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558

Q1: มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง

Q: ตามที่ระบุในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ในส่วนของคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ข้อที่ระบุว่า “ตำแหน่งอย่างอื่นที่เทียบได้…” หมายความถึงตำแหน่งใด
A: ตำแหน่งอย่างอื่น หมายความถึง ตำแหน่งข้าราชการตามกฎหมายอื่น ที่ไม่ใช่ตำแหน่งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือนสามัญ (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551) ซึ่ง ก.พ. ได้เทียบการดำรงตำแหน่งข้าราชการอื่นดังกล่าว เท่ากับการดำรงตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้เป็นตำแหน่งประเภท และระดับ ตามเงื่อนไขที่ ก.พ. กำหนด เช่น ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งของข้าราชการทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจสอบการเทียบตำแหน่งข้าราชการตามกฎหมายอื่นเพิ่มเติมได้จากหนังสือเวียนสำนักงาน ก.พ. ว 30/2553 ว 4/2558 และ ว 9/2560 หรือที่เกี่ยวข้อง

Q1: การกำหนดตำแหน่งและการจัดทำกรอบอัตรากำลังของพนักงานราชการ

Q: พนักงานราชการตำแหน่งใดบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ

A: พนักงานราชการในกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะเป็นกลุ่มงานที่ใช้วุฒิเฉพาะทาง และเป็นงานที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งมีองค์กรตามกฎหมายตรวจสอบ และรับรองการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นงานที่ขาดแคลนกำลังคนในภาคราชการหรือเป็นงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเชิงพัฒนา เช่น ตำแหน่งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ วิศวกรโยธา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น (ซึ่งต้องเทียบเคียงได้กับสายงานที่ได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ และชำนาญการพิเศษ ของข้าราชการพลเรือนสามัญ)

Q2: การกำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ

Q: พนักงานราชการสามารถนำวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น มาใช้ปรับวุฒิเพื่อเพิ่มค่าตอบแทน ได้หรือไม่

A: ระบบพนักงานราชการ เป็นระบบสัญญาจ้างที่เน้นการจ้างงานตามสมรรถนะและคุณวุฒิของบุคคล ซึ่งได้กำหนดไว้เฉพาะสำหรับตำแหน่งตามที่ประกาศรับสมัคร ดังนั้น การได้รับคุณวุฒิเพิ่มขึ้นจึงไม่สามารถนำมาขอปรับอัตราค่าตอบแทนหรือปรับตำแหน่งได้

Q: พนักงานราชการได้รับการจ้างให้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เนื่องจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ในปีนั้นเป็นวันหยุดราชการ จะได้เลื่อนค่าตอบแทนในวันที่ 1 ตุลาคม ของปีนั้นหรือไม่

A: ในกรณีทั่วไป พนักงานที่จะได้เลื่อนค่าตอบแทนในวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้น จะต้องมีเวลาปฏิบัติงานมาครบ 8 เดือน นับจนถึงวันสิ้นปีงบประมาณ (วันที่ 30 กันยายน) แต่หากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในปีนั้นตรงกับวันหยุดราชการ พนักงานราชการที่ได้รับการจ้างให้เริ่มงานวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็ให้ได้รับการเลื่อนขึ้นค่าตอบแทนในวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้น เป็นกรณีพิเศษได้

Q: หากพนักงานราชการได้รับค่าตอบแทนถึงขั้นสูงของบัญชีกลุ่มงานแล้ว จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมพิเศษ เช่นเดียวกับข้าราชการ หรือไม่

A: ไม่มีค่าตอบแทนเพิ่มเติมพิเศษ พนักงานราชการจะได้รับค่าตอบแทนตามอัตราขั้นสูงของบัญชีกลุ่มงาน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ คพร. เรื่อง ค่าตอบแทนของพนักงานราชการ เท่านั้น (ประกาศ คพร. เรื่อง ค่าตอบแทนของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2565)

Q: พนักงานราชการสามารถสะสมวันลาพักผ่อน ได้หรือไม่

A: พนักงานราชการที่ปฏิบัติงานครบ 1 ปีขึ้นไป และในปีงบประมาณที่ผ่านมาใช้สิทธิลาพักผ่อนไม่ครบ 10 วันทำการ ให้สามารถนำวันลาพักผ่อนที่เหลือมาสะสมได้ ซึ่งวันลาพักผ่อนที่นำมาสะสมต้องไม่เกิน 5 วันทำการ เมื่อรวมกับวันลาพักผ่อนในปีปัจจุบันแล้วจะต้องไม่เกิน 15 วันทำการ (เป็นไปตามประกาศ คพร. เรื่อง สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560)

Q: พนักงานราชการชาย สามารถลาไปช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรและดูแลภรรยาหลังคลอดบุตร ได้หรือไม่

A: มีสิทธิลาได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเงื่อนไข (ตามประกาศ คพร. เรื่อง สิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2566 ดังนี้

  • ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ
  • ต้องลาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตร
  • ให้ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา ไม่เกิน 15 วันทำการ
  • หากเป็นการลาเมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ภรรยาคลอดบุตร จะไม่ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่อธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไปเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 15 วันทำการ

Q: พนักงานราชการที่มีคู่สมรสเป็นข้าราชการ จะสามารถเลือกใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเป็นข้าราชการของคู่สมรส ได้เลยหรือไม่

A: พนักงานราชการต้องใช้สิทธิของตนเองจากประกันสังคมก่อน หากยังมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินจึงไปใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการเป็นข้าราชการของคู่สมรส

Q1 : หลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ (ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2570)

Q: ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 อัตราว่างที่จัดสรรคืนให้กับส่วนราชการเดิม อ.ก.พ. กระทรวง
จะสามารถพิจารณานำไปจัดสรรให้กับส่วนราชการอื่นในสังกัดกระทรวงเดียวกันตามความจำเป็น ได้หรือไม่
A: ให้ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการในตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับตำแหน่งที่เกษียณอายุทุกตำแหน่งคืนส่วนราชการเดิมก่อน กรณีที่ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาแล้วเห็นควรนำอัตราว่างดังกล่าวไปจัดสรรให้กับส่วนราชการอื่นในสังกัดกระทรวงเดียวกันตามความจำเป็น สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่ง ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 2 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558

Q: อัตราว่างที่จัดสรรคืนให้กับส่วนราชการเดิม อ.ก.พ. กระทรวง จะสามารถจัดสรรคืนเป็นตำแหน่งในสายงานอื่นได้หรือไม่
A: ให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการทุกตำแหน่งคืนส่วนราชการเดิมในตำแหน่ง ประเภท สายงาน และระดับตำแหน่งที่เกษียณก่อน กรณีที่ส่วนราชการมีความประสงค์จะปรับปรุงตำแหน่งที่ได้รับการจัดสรรคืน เป็นตำแหน่งในสายงานอื่น สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008/ว 2 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเสนอให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง เป็นผู้พิจารณา

Q: จากแนวทางการบริหารตำแหน่งว่างของส่วนราชการ ที่กำหนดให้ส่วนราชการมีตำแหน่งว่างได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของกรอบอัตราข้าราชการทั้งหมด และไม่ควรว่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกิน 1 ปี นั้น ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา จะถูกนับรวมเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ในการบริหารอัตราว่างด้วยหรือไม่ อย่างไร
A: ตำแหน่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการสรรหา อาทิ เพื่อการบรรจุ ย้าย โอน เลื่อน หรือตำแหน่งอื่นที่ถูกกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ (ที่มีเอกสารหลักฐานการดำเนินการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่า อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา เช่น ประกาศสอบแข่งขัน ประกาศสอบคัดเลือก ฯลฯ) จะไม่ถูกนำมานับรวมในสัดส่วนการบริหารตำแหน่งอัตราว่างไม่เกินร้อยละ 5

Q: ในช่วงที่กำหนดให้มีการตรึงอัตรากำลัง (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567) อัตราว่างที่จัดสรรคืนให้กับส่วนราชการเดิมจะเป็นตำแหน่งในระดับแรกบรรจุใช่หรือไม่
A: ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 ที่กำหนดให้มีการตรึงอัตรากำลังให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการในตำแหน่งประเภท สายงาน และระดับตำแหน่งที่เกษียณทุกตำแหน่งคืนส่วนราชการเดิมทั้งหมด โดยชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการบริหารและการปฏิบัติราชการในช่วงที่มีการตรึงอัตรากำลัง
ตัวอย่าง ข้าราชการ กรม ก. เกษียณอายุในตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ จำนวน 1 ตำแหน่ง กรณีดังกล่าว กรม ก. จะได้รับการจัดสรรอัตราว่างคืนจากผลการเกษียณอายุราชการเป็นตำแหน่งนักทรัพยากรบุคคล ระดับชำนาญการพิเศษ จำนวน 1 ตำแหน่ง

Q: ตามแบบฟอร์มแบบรายงานผลการบริหารอัตราข้าราชการระหว่างปี (แบบ คปร. 5) กรณีเหตุที่ว่างด้วยการเกษียณอายุ หมายรวมถึงอัตราว่างจากการเกษียณอายุฯ ในปีที่รายงานผลด้วยหรือไม่
A: จากแบบฟอร์มแบบรายงานผลการบริหารอัตราข้าราชการระหว่างปี (แบบ คปร. 5) การกรอกข้อมูลในส่วนที่ 1
กรณีเหตุที่ว่างด้วยการเกษียณอายุ ให้นำจำนวนอัตราว่างจากการเกษียณอายุฯ ที่ผ่านมาซึ่งยังไม่ได้บริหารจัดการ
มาเป็นข้อมูลในการกรอกแบบฟอร์ม (จำนวนเกษียณอายุสะสม) ทั้งนี้ ไม่ต้องนำอัตราว่างจากผลการเกษียณฯ
ของปีงบประมาณที่รายงานมารวม เนื่องจากผู้เกษียณอายุพ้นจากตำแหน่ง ณ วันที่ 1 ตุลาคม

ท่านคิดว่าข้อมูลหน้าเว็บไซต์นี้เป็นประโยชน์หรือไม่
ใช่ ไม่
ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นของท่าน
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเว็บไซต์ของเรา ด้วยการเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม
Skip to content